เทคนิคเล็กๆน้อยๆสำหรับสาวๆที่แพ้เครื่องสำอาง

18.7.52



การที่จะป้องกันไม่ให้แพ้เครื่องสำอางนั้น
วิธีการก็ง่ายนิดเดียวครับ

- อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนผสมที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ทุกตัวที่เราต้องใช้ หากพบว่ามีส่วนผสมตัวใดที่เคยทำให้แพ้ก็ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนั้น คอยสังเกตส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ว่าตัวใดที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมตัวนั้น

- เมื่อจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ให้ทำการแต้มผลิตภัณฑ์นั้นในบริเวณแคบ ๆ ก่อน หรือที่เรียกว่า mini-patch test เพื่อดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ โดยการแต้มผลิตภัณฑ์นั้นบนข้อมือด้านใน หรือบริเวณข้อศอกทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วดูว่ามีอาการแพ้เกิดขึ้นหรือไม่

- เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสูตรผสมง่าย ๆ ยิ่งมีส่วนผสมมากยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้ได้มากขึ้น ด้วยส่วนผสมน้อย ๆ ก็จะทำให้ง่ายในการหาสาเหตุของการแพ้ได้

- ฉีดน้ำหอมในบริเวณเสื้อผ้าจะดีกว่าการฉีดลงบนผิว แล้วรอให้น้ำหอมที่ฉีดบนเสื้อผ้าแห้งเสียก่อนจึงค่อยสวมใส่เสื้อผ้านั้น

- ควรระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับเมคอัพ เนื่องจากจะต้องอยู่บนผิวหน้าเป็นเวลานานระหว่างวัน เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็น hypoallergenic, ปราศจากน้ำหอม, และ non-comedogenic อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเช่นนี้ก็ยังอาจทำให้เกิดการแพ้ได้



ทำความเข้าใจกับฉลากผลิตภัณฑ์


เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักส่วนผสมแต่ละตัวในผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่ทราบอยู่แล้วว่าจะทำให้คุณเกิดอาการแพ้ เพื่อให้ง่ายขึ้น FDA ได้ระบุให้บริษัทเครื่องสำอางแจงรายการส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ไว้บนฉลาก ไล่ตามความมากน้อยของส่วนผสมแต่ละรายการ โปรดจำไว้ว่า ความลับทางการค้าและส่วนผสมของรสชาติและความหอม นั้นไม่จำเป็นจะต้องแจงรายละเอียด

และอีกประการหนึ่งของฉลากผลิตภัณฑ์ที่ว่า “ไม่มีกลิ่น” หรือ “ปราศจากน้ำหอม” ก็อาจผสมน้ำหอมปริมาณน้อย ๆ เพื่อกลบกลิ่นไม่พึงประสงค์ของส่วนผสมอื่น ๆ ที่เป็นเคมี “ธรรมชาติ” หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากต้นไม้หรือสัตว์ มากกว่าส่วนผสมที่ได้จากสารเคมี ฉลากผลิตภัณฑ์ที่แจงว่า “non-comedogenic” จะต้องไม่มีส่วนผสมที่ทำให้อุดตันรูขุมขนอันอาจทำให้เกิดสิว

ฉลากเครื่องสำอางนั้นเป็นประโยชน์มากเมื่อเราต้องการทราบส่วนผสมต่าง ๆ แต่ควรระวังเรื่องของเจตนาในการอ้างถึงสรรพคุณผลิตภัณฑ์ เช่น มีผลิตภัณฑ์หลาย ๆ ตัวที่แจงว่าเป็น Hypoallergenic เพื่อจะบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นที่คล้าย ๆ กัน ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ แต่บริษัทผู้ผลิตนั้นไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างนั้น อีกประการหนึ่ง ฉลากผลิตภัณฑ์ที่แจงว่า “organic” นั้นไม่ได้แปลว่าจะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ จำไว้ว่า ไม่มีเครื่องสำอางใดที่สามารถรับประกันได้ว่าไม่ทำให้เกิดอาการแพ้




คำแนะนำเพื่อความปลอดภัย



- รักษาความสะอาดให้ดีอยู่เสมอ ทำความสะอาดมือและผิวหน้าก่อนการใช้เมคอัพทุกครั้ง

-ไม่ควรใช้เมคอัพร่วมกับผู้อื่น

- หากต้องการทดลองผลิตภัณฑ์ในร้าน พยายามขออุปกรณ์ช่วยทาอันใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้ และบอกพนักงานขายให้เช็ดทำความสะอาดผลิตภัณฑ์สำหรับทดลองด้วยแอลกอฮอล์

- ปิดขวดหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องสำอางให้แน่นสนิท ไม่ให้สัมผัสกับฝุ่นและสิ่งสกปรก หลังจากเปิดใช้แล้ว

- เก็บเครื่องสำอางให้พ้นจากความร้อนและแสงแดด

- ไม่ควรใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตา หากมีการติดเชื้อที่ดวงตา แต่หากมีการใช้ในช่วงที่ติดเชื้อให้หยุดใช้แล้วทิ้งเครื่องสำอางที่ใช้กับดวงตานั้น ๆ ทิ้งไป แล้วใช้ของใหม่เมื่อการติดเชื้อที่ดวงตาหายดีแล้ว

- ทิ้งผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนของสีหรือกลิ่น เพราะนั่นอาจหมายถึงสารกันเสียที่อยู่ในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไม่อาจป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้อีกต่อไป หรือสารกันเสียหมดอายุแล้วนั่นเอง

- หากผลิตภัณฑ์มีความเปลี่ยนแปลงของเนื้อผลิตภัณฑ์ ให้ทิ้งไปเลย

- ทำความสะอาดแปรงแต่งหน้าและอุปกรณ์ในการแต่งหน้าอยู่เสมอทุกสัปดาห์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น