เมืองฟ้าแดดสงยาง

29.9.52

"จากตำนานเล่าขับขานกันมารุ่นต่อรุ่น จึงอยากจะเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์ออกสู่สายตามวลชน"



ประวัติความเป็นมา
เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง มีความอุดมสมบูรณ์ผู้ปกครองเมืองคือพญาฟ้าแดด มีพระมเหสีชื่อ "พระนางจันทาเทวี"(เขียวค่อม) มีพระธิดาชื่อ "พระนางฟ้าหยาด" เป็นผู้ที่มีพระสิริโฉมงดงามมาก เป็นที่หวงแหนของพระราชบิดา-มารดา พญาฟ้าแดดให้ช่างสร้างปราสาทเสาเดียวไว้กลางน้ำ โดยใช้ศิลาแลงในการก่อสร้างบริเวณนี้ปัจจุบันเรียกว่า "โนนฟ้าแดด" นอกนั้นยงมีการขุดสระไว้รอบเมือง มีคูค่ายและเชิงเนิน มีหอรบอย่างแข็งขัน สระที่ขุดไว้ในปัจจุบันเป็นหนองน้ำสาธารณะ เมืองลูกหลวงของเมืองฟ้าแดดคือ เมืองสงยาง มอบให้อนุชาชื่อ พญาอิสูรย์ (เจ้าฟ้าระงึม) เป็นผู้ครองเมือง เมืองทั้งสองห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร เลยรวมเรียกว่า "เมืองฟ้าแดดสงยาง"

เมืองเชียงโสม เป็นเมืองหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับเมืองฟ้าแดด มีพญาจันทราชเป็นผู้ปกครองจัดให้มีเทศกาลเล่นหมากรุก และตีหิงคลี ใครแพ้-ชนะ ก็จะส่งส่วยกินเมืองตามประเพณี ครั้งหนึ่งพญาจันทราชได้ออกล่าสัตว์ และต่อไก่ มุ่งหน้าลงทางใต้ จึงถึงหนองเลิง ได้หลงทางเข้าไปในอุทยานของนางฟ้าหยาด เมื่อพญาจันทราชพบหน้านางฟ้าหยาดก็ชอบพอ

ต่อมาพญาจันทราชเดินทางกลับเมืองเชียงโสมได้มอบให้ขุนเล็ง ขุนดาน นำเครื่องบรรณากาารมาสู่ขอนางฟ้าหยาด แต่ไม่สำเร็จ พญาจันทราช จึงได้เคลื่อนขบวนทัพมาตีเมืองฟ้าแดดสงยาง โดยขอความช่วยเหลือไปยังเมืองเชียงสง เชียงสา เชียงเครือ ท่างาม น้ำดอกไม้ สาบุตรกุดอก ให้ส่งกองทัพมาช่วยฝ่ายพญาฟ้าแดด เมื่อทราบข่าวก็ขอความช่วยเหลือไปยังผู้ปกครองเมืองสงยางผู้เป็นอนุชาให้มาช่วยรบ เมื่อเกิดสงครามมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาจันทราชสิ้นพระชนม์บนคอช้าง แม่ทัพนายกองเห็นดังนั้นก็ยอมแพ้

นางฟ้าหยาดเมื่อทราบข่าวก็มีความเสร้าโศกจนสิ้นชีวิตบนปราสาทกลางน้ำ ต่อมาพญาฟ้าแดดก็ให้ นำศพนางฟ้าหยาด และศพพญาจันทราช บรรจุลงในหีบทองคำ ตกแต่งอย่างสมพระเกียรติ และให้สร้างเจดีย์คู่เป็นอนุสรณ์ไว้ (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกของโนนเมืองฟ้าแดดสงยาง) ก่อนที่จะบรรจุอัฐิของนางฟ้าหยาดกับพญาจันทราช ได้รับสั่งให้ช่างหลอพระพุทธรูปและเทวรูปทองคำ จำนวน 84,000 องค์ ประกาศให้ชาวเมืองฟ้าแดดสงยางหล่อหรือสร้างพระพุทธรูปทุกครัวเรือน โดยให้หล่อหรือสร้างด้วยทองคำ อิฐ หิน หรือดินเผาแล้วแต่ศรัทธา แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์คู่ เพื่อเป็นการบูชาและล้างบาปที่กระทำไว้ จากนั้นได้มอบให้พญาธรรมไปครองเมืองเชียงโสม ส่งสวยแก่เมืองฟ้าแดดเป็นประจำทุกปี


ที่ตั้งและสถานที่สำคัญ
ตั้งอยู่ที่บ้านเสมา ตำบลหนองแปง ห่างจากตัวจังหวัด 19 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 214 (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) ระยะทาง 13 กิโลเมตร ถึงอำเภอกมลาไสย เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 2367 ระยะทาง 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยอีกประมาณ 400 เมตร เมืองฟ้าแดดสงยางหรือที่เรียกเพี้ยนเป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกเมืองเสมาเนื่องจากแผนผังของเมืองมีรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณที่มีคันดินล้อมรอบ 2ชั้น ความยาวของคันดินโดยรอบประมาณ 5 กิโลเมตร คูน้ำจะอยู่ตรงกลางคันดินทั้งสอง จากหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบ ทำให้ทราบว่ามีการอยู่อาศัยภายในเมืองมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แล้วได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 ดังหลักฐานทางพุทธศาสนาที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งภายในและนอกเมือง เช่น ใบเสมาหินทราย จำหลักภาพเรื่องชาดก และพุทธประวัติจำนวนมาก บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมารามซึ่งอยู่ภายในเมือง บางแห่งอยู่ในตำแหน่งดั้งเดิมที่พบ และบางส่วนก็นำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น นอกจากนั้นยังมีซากศาสนสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปภายในเมืองและนอกเมือง เช่นพระธาตุยาคู และกลุ่มเจดีย์บริเวณศาสนสถานที่โนนวัดสูง โนนฟ้าหยาด และโนนฟ้าแดด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479
พระธาตุยาคู หรือพระธาตุใหญ่ เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐปรากฏการก่อสร้าง 3 สมัยด้วยกันคือ ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ มีปูนปั้นประดับสร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิมเป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ ชาวบ้านเชื่อกันว่าในองค์พระธาตุบรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดแต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ชาวบ้านจะจัดให้มีงานประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประจำทุกปีในเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นให้กับหมู่บ้าน










Link...
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น