วิธีการเลี้ยงมดแดง

14.10.52

วิธีการเลี้ยงมดแดง
วิธีการเลี้ยงมดแดง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. กำจัดปลวกและมดดำบริเวณต้นไม้ที่จะลี้ยงมดแดงให้หมดโดยใช้สารเสริม เช่น เชฟริน 80% โรยรอบ ๆ ต้นไม้ก่อนเลี้ยงประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ หรืออาจจะใช้สารที่สกัดจากสะเดา และทิ้งไว้ระยะหนึ่ง มดดำที่มีอยู่จะหนีหมด จากนั้นจึงปล่อยให้มดแดงทำรัง
2. ใช้ไม้กระดานขนาดประมาณ 16 X 20 นิ้ว ทำเป็นแท่นให้อาหาร โดยตอกเป็นแป้น
วางสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร เพื่อป้องกันศัตรู เช่น สุนัขขึ้นไปกินเศษอาหาร
3. หาภาชนะใส่น้ำให้มดแดงกินคลอดเวลา อาจเป็นขวดน้ำพลาสติกตัดครึ่ง ใช้ตะปูตอกไว้กับต้นไม้ ครึ่งหนึ่งใส่อาหาร ครึ่งหนึ่งใส่น้ำ แล้วใส่ไม้ลงไปให้มดแดงไต่ไปกินน้ำ
4. ให้อาหาร เช่น เศษเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลา แมลงทุกชนิด หอยเชอรี่ หรือหอยชนิดต่าง ๆ ก็ได้
5. ทำสะพานให้มดเดินในกรณีที่ต้นไม้ที่เลี้ยงมีหลายกิ่ง โดยมัดโยงจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง ถ้าต้นไม้ที่เลี้ยงยังไม่มีมดแดงก็ให้หามดแดงมาปล่อย
อาหารมดแดง
อาหารมดแดง
มดแดง ชอบอาหารที่แห้งสนิท เช่น ปลาแห้ง จิ้งจก ตุ๊กแก งูที่ตายแล้วนำไปตากแห้ง และที่ชอบเป็นพิเศษ คือ แมลงชนิดต่าง ๆ โดยจะคาบไปสะสมไว้ในรัง หากอาหารชิ้นใหญ่ ไม่สามารถจะคาบหรือลากไปเก็บไว้ในรังได้ มดแดงจะช่วยกันและเยี่ยวราดเอาไว้เพื่อไม่เหน่าเหม็น และจะรอจนกว่าอาหารนั้นแห้ง จึงจะค่อย ๆ กัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นำเอาไปเก็บไว้ในรังเพื่อป้อนตัวอ่อนและนำไปเป็นอาหาร จากการสังเกต พบว่าในฤดูฝน มดแดงไม่ชอบเดินทางออกจากต้นไม้ทีมันสร้างรังอยู่ เนื่องจากพื้นดินเปียกแฉะ ในฤดูฝนนี้มดแดงจึงหาอาหารได้ไม่เพียงพอ แต่ถ้าหากเราจัดหาที่ให้น้ำและอาหารไว้บริเวณที่มดแดงอาศัยอยู่แล้ว จะทำให้มดแดงไข่อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการเลี้ยงมดแดง
ข้อควรระวัง
สำหรับผู้เลี้ยงมดแดง คือ เมื่อแหย่ไข่มดแดงมาปรุงอาหารควรปล่อยแม่มดแดง(แม่เป้ง) ให้หมด ไม่ควรนำมาคั่วกินจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มดแดงอพยพไปอยู่ที่อื่นหมด วิธีการแยกมดแดงออกจากไข่ของมัน ทำได้โดยใช้แป้งมันสำปะหลังโรยลงไปที่ไข่มดแดงแล้วนำไปเทใส่ถาดเกลี่ยให้กระจายออก มดแดงจะไต่หนีไปจนหมด เหลือไว้แต่ไข่มดแดงเท่านั้น
การดำรงชีวิตของมดแดง
มดแดง เป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันสร้างรังเลี้ยงดูตัวอ่อนให้เติบโตเป็นสมาชิกใหม่ ภายในรังมดแดงจะมีสมาชิกคือ
แม่เป้ง (นางพญา) มีรูปร่างขนาดใหญ่กว่ามดแดงธรรมดามาก ลำตัวเป็นสีเขียวปนน้ำตาล มีปีกสำหรับบิน มีหน้าที่ออกไข่คล้ายกับนางพญาปลวก ผึ้ง เมื่อใดที่แม่เป้งเห็นว่าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมในการสร้างรังและวางไข่ มันก็จะทิ้งรังเดิมไปสร้างรังและวางไข่ที่อื่นตามต้นไม้ที่มีใบดก เขียวชอุ่ม หนา ทึบ ปลอดภัย มีอาหารและน้ำสมบูรณ์
มดแดง ไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่า มดแดงตัวใดเป็นมดงาน
มดพยาบาล หรือมดทหารเหมือนกับปลวก เนื่องจากมดแดงตัวผู้สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ทั้ง 3 กรณี คือ เป็นมดงานทำหน้าที่สร้างรังมด พยาบาลทำหน้าที่เลี้ยงตัวอ่อน และมดทหารทำหน้าที่ต่อสู้ขัดขวางผู้บุกรุกที่จะทำอันตรายแก่รังของมัน
การกำเนิดประชากรของมดแดง เริ่มจากแม่เป้งจะออกไข่ไว้ในรังที่ตัวมันสร้างเพียงตัวเดียวก่อน จำนวนไข่มีไม่มาก ประมาณ 100 – 500 ฟอง ในจำนวนไข่ทั้งหมดจะมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ
ไข่มาก เป็นไข่ที่มีขนาดใหญ่ผิดธรรมดา จะฟักออกมาเป็นแม่เป้งมดแดง
ไข่ฝาก เป็นไข่ที่มีขนาดเล็กไม่โต ไม่เต่งเหมือนไข่มาก จะฟักตัวออกมา
เป็นตัวมดแดงธรรมดา เมื่อไข่ทั้งหมดกลายเป็นตัวอ่อนและเติบโตขึ้นก็กลายเป็นประชากรมดแดงที่มีจำนวนมาก และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีแม่เป้งเพิ่มขึ้นหลายตัว นอกจากนี้ต้องมีปัจจัยด้านน้ำและอาหารสมบูรณ์ด้วย
ไข่มดดำ เป็นไข่ที่มีขนาดเล็กอกสีดำ พอฟักออกเป็นตัวจะเป็นมดดำมีปีกแล้วบินหนีไปในที่สุด
การสร้างรัง
รังมดแดง
มดแดงทุกตัวจะมีเส้นใยพิเศษที่ได้จากน้ำลายและกรดมดจากท้องของมัน ลักษณะของใยสีขาว (เมื่อแห้งแล้วอ่อนนุ่มและเหนียวคล้ายสำลี) มดแดงจะดึงใบไม้มายึดติดกันโดยใช้ใยนี้เอง ส่วนมากจะสร้างรังเป็นรูปทรงกลม สามารถป้องกันน้ำฝนได้
แม่เป้ง จะออกไข่ให้มดแดงเลี้ยงดูกระทั่งฟักเป็นตัวอ่อน และตัวอ่อนจะได้รับการป้อนน้ำ ป้อนอาหารตลอดเวลา ถ้าหากได้รับอาหารอย่างเพียงพอ จะเจริญเติบโตเป็นมดแดงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5 – 10 วัน
มดแดง ชอบสร้างรังอยู่หนาแน่นบนต้นไม้ที่มีใบดกถาวร ไม่ผลัดใบง่าย อยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ริมลำธาร หนองน้ำ หรือแอ่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากมดแดงต้องการน้ำมากไว้ใช้ในการสร้างกรดมดบรรจุไว้ส่วนท้อง เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิต
ต้นไม้ที่มดแดงชอบสร้างรัง เช่น ต้นมะม่วง ต้นสะเดา ต้นจิก ต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นกระบาก และต้นขี้เหล็ก เป็นต้น ควรเลือกต้นมะม่วงจะเหมาะมาก เพราะใบใหญ่และใบเหลืองช้า ถ้าหากเลือกต้นไม้ที่ผลัดใบง่าย เมื่อใบเหลืองมดแดงจะทิ้งรังทันที
มดแดง มีวิธีส่งสัญญาณให้พวกเดียวกันรู้อย่างรวดเร็ว เช่น มีศัตรูบุกรุกรัง หรือมีอาหาร ซึ่งมดแดงมีวิธีการรักษาอาหารไม่ให้เน่าเหม็นด้วยการฉี่รดเพราะฉี่ของมดแดงมีกรดน้ำส้ม ช่วยรักษาสภาพของอาหารไม่ให้เน่าเปื่อยได้ เช่นเดียวกับการดองอาหารด้วยน้ำที่มีรสเปรี้ยว เช่น กรดมะนาว ฯลฯ ของมนุษย์เรา
ประโยชน์ของการเลี้ยงมดแดง
มดแดง เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทแมลงที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ทราบและเข้าใจลึกซึ้งถึงประโยชน์ที่ได้รับจากมดแดง ทำให้ทำลายมดแดงไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การใช้สารเคมีฆ่าแมลง ทำให้มดแดงต้องตายไปด้วย
มดแดง ช่วยป้องกันและกำจัดหนอนศัตรูพืชและแมลงที่เป็นศัตรูพืชต่าง ๆ เช่น เพลี้ยต่าง ๆ หนอน ตั๊กแตน จักจั่นสีเขียว เมื่อเห็นว่ามดแดงมีความสามารถที่จะกำจัดและควบคุมศัตรูพืชให้อยู่ในระดับสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชลงได้ ช่วยให้ลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเกษตรกรและสภาพแวดล้อม
นอกจากนี้ ไข่มดแดงยังเป็นเมนูจานเด็ดอย่างหนึ่งในตำรับอาหารอีสาน อาทิ ก้อย ยำไข่มดแดง ไข่เจียวใส่ไข่มดแดง แกงขี้เหล็กใส่ไข่มดแดง เป็นต้น ไข่มดแดงนั้นชาวอีสานชอบกันมาก ส่วนราคาซื้อขายนับว่าค่อนข้างแพง แค่ 2 – 3 หยิบมือ ก็ตกประมาณ 10 – 20 บาท โดยที่ไข่มดแดง 1 รัง อาจกระทุ้งนำไข่มาขายได้ไม่น้อยกว่า 50 บาท/รัง

ก้อยไข่มดแดง
ก้อยไข่มดแดง อาหารชั้นสูง(อยู่บนต้นไม้ไง)
แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง

แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง อีกเมนูหนึ่งที่สุดแสนอร่อย

วิธีการแหย่ไข่มดแดงโดยใช้ท่อพีวีซี
วิธีการแหย่ไข่มดแดง

5 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

แกงผักหวานใส่ไข่มดแดงใส่ปลาแห้งนำ..แซบหลายเด้อ..

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อืมน่ากินมากอ่ะเห็นแล้วน้ำลายไหล.....ซู๊ดดดดดดดดด...................

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เบิ่งแล้วหิวข้าวหลายเด้อ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นตาแซ่บแท้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ยากกินเด้นอะ

แสดงความคิดเห็น