การทำไซดักปลา

11.2.53

การทำไซดักปลา
ประโยชน์ใช้ในการดักปลาแทบทุกขนาด วิธีการสานไซ ผู้ทำมักเหลาเส้นตอกให้เล็กเป็นเส้นกลมยาวอย่างน้อย 2 ปล้องไผ่ เมื่อได้เส้นตอกตามจำนวนที่ต้องการแล้วนำมามัดปลายด้านหนึ่งรวมกัน ก่อนจะพับให้กลับไปด้านหลัง แล้วใช้เส้นตอกอีกส่วนหนึ่งสานขวางสลับกันไปตั้งแต่ด้านบนถึงด้านล่าง การสานนิยมสานเป็น

“ลายขวางไพห้า” ระหว่างสานผู้ทำต้องบังคับให้รูปทรงป่องแคบตามลักษณะของงาน ส่วนบริเวณตรงกลางหรือกลางค่อนไปทางปลายจะมีการเจาะใส่งาอีกด้านละช่อง เพื่อให้เป็นส่วนที่ปลาวิ่งเข้าและนำออก


ตัวอย่างเกาตรกรผู้มีรายได้จากการทำไซขาย
ใบศรี คำกอง อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 63/1 หมู่ 7 ต.วังหิน อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น



"การทำไซดักปลานี้ เป็นมรดกที่ตกทอดมาจากรุ่นปู่รุ่นพ่อของเรา เท่าที่จำความได้ก็เห็นพ่อทำไซดักปลาแล้ว แต่ผมเพิ่งมาหัดทำเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง โดยพี่เป็นคนสอนให้ทำ เพราะเห็นว่ารายได้ดี แล้ววัสดุที่ใช้คือต้นไผ่ ปัจจุบันนี้หาง่ายมาก มีปลูกกันเต็มไปหมดทุกหัวระแหง"
ลุงใบศรีกล่าว

"ต้นไผ่ที่นำมาทำไซ ต้องไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ขนาดกลางๆ อายุประมาณ 2-3 ปี เพราะถ้าแก่เกินไป มันก็จะหักง่าย ส่วนไผ่ที่เอามาทำส่วนใหญ่จะเป็นไผ่สีสุก เพราะทนทานและมีความยืดหยุ่นสูง โดยไผ่ 1 ลำจะสามารถทำไซได้ 1 ลูก ซึ่งแต่ละลูกจะใช้เวลาทำประมาณ 3-5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของไซด้วย"

ไซที่มีความยาว 3 เมตร สนนราคาอยู่ที่ 1,230 บาทต่อลูก ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุด โดยลูกค้าที่สนใจไซชนิดนี้ มักจะเอาไปไว้ประดับตกแต่งบ้านเรือนมากกว่าจะใช้ดักปลาจริงๆ ในขณะที่ไซที่นำมาใช้ดักปลานั้นจะมีขนาดความยาวประมาณ 1-2 เมตรเท่านั้น สนนราคา 150-230 บาทต่อลูก ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนในหมู่บ้าน ปัจจุบันสามารถจำหน่ายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 5-6 ลูก

"ต้นทุนอยู่ที่ต้นไผ่อย่างเดียว อย่างอื่นไม่มี ซึ่งขณะนี้ต้นไผ่ซื้อขายกันอยู่ที่ลำละ 50-60 บาท แต่ถ้าเป็นไผ่ของเราเองก็จะไม่มีต้นทุนในส่วนนี้ ก็มีแต่กำไร"

ลุงใบศรียอมรับว่า เรื่องการตลาดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะก็ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย โดยเฉพาะฤดูฝนจะขายได้ดีมาก ทำแทบไม่ทัน แต่ถ้าเป็นฤดูหนาวหรือฤดูร้อนจะขายไม่ค่อยได้ แต่ที่ต้องทำก็เพราะต้องเตรียมไว้ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

ขอบคุณ :หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น