วิธีการเลี้ยงปลานิลหมัน

12.7.53

ปลานิลหมัน เป็นปลาที่ถูกแปลงเพศ เพื่อที่จะให้ได้ปลานิลที่มีตัวโตกว่าปลานิลทั่วๆไป เลี้ยงง่าย โตเร็ว ไม่เป็นโรค พ่อพันธุ์มาจากสถาบันวิจัย และพัฒนาพันธุ์กรมสัตว์น้ำของกรมประมง และได้พัฒนาจนเป็นปลาที่ไม่มีโรค

ปลานิล เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบบริเวณลุ่มน้ำไนล์ ในบริเวณแอฟริกาตะวันออก จนถึงบริเวณลุ่มน้ำไนล์ตะวันตก บริเวณลุ่มน้ำเซเนกัลและไนเจอร์

ปลานิล เป็นพี่น้องร่วมตระกูลกับปลาหมอเทศที่เรารู้จักกันดีคือ ตระกูล Tilapia ด้วยเหตุนี้ชื่อวิทยาศาสตร์ของปลานิลจึงมีชื่อว่า Tilapia niloticus ซึ่งบ่งบอกถึงลุ่มน้ำไนล์อันเป็นถิ่นกำเนิดอยู่ด้วย แต่ต่อมาด้วยเหตุผลทางด้านวิชาการบางประการ ปลานิลจึงมีชื่อใหม่เป็น Oreocromis niloticus แต่ก็ยังมีชื่อของลุ่มน้ำไนล์ติดอยู่เหมือนเดิม
วิธีการเลี้ยงปลานิลหมัน

ปลานิล เป็นปลาที่มีศักยภาพในด้านการเพาะเลี้ยงอยู่สูงมาก คือมีเนื้ออร่อยกว่าปลาน้ำจืดชนิดอื่นหลายชนิด สามารถกินอาหารธรรมชาติได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ มีความสามารถสูงในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี คือ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในอุณหภูมิน้ำ 10-40 องศาเซลเซียส และสามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพที่ถูกกักขังในที่แคบ เช่น บ่อเลี้ยงหรือกระชังได้ และสามารถเจริญเติบโตได้ดีเหมือนในธรรมชาติ

ด้วย คุณสมบัติดังกล่าว ปลานิล จึงถูกนำมาเพาะเลี้ยงในบ่อและกระชังในหลายประเทศเกือบทั่วโลก ยกเว้นประเทศที่มีอุณหภูมิหนาวจัดเท่านั้น เพราะปลานิลสามารถเข้ามาทดแทนความขาดแคลนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในบางประเทศที่ แห้งแล้งทุรกันดารได้เป็นอย่างดี จนได้ชื่อว่า “Aquatic Chicken” ปลานิล จึงกลายเป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงในเกือบทุกประเทศ และเป็นปลาที่มีการเพาะเลี้ยงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยและของโลกด้วย

ปลานิลถูกนำเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นครั้ง แรกโดยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ทรงจัดส่งปลานิลมาทูลฯถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 จำนวน 50 ตัว ในระยะแรกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ในบริเวณพระตำหนักสวนจิตรลดา พระราชวังสวนดุสิต ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเลี้ยงในบ่อดิน และได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ขุดบ่อดินเพิ่มขึ้นเพื่อขยายพันธุ์ปลานิลให้มากขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงมาคอยตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน

เมื่อ เลี้ยงปลานิลและขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นทุกทีจนครบ 1 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลูกปลานิล ขนาดความยาว 3-5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว ให้กรมประมงไปเลี้ยงและขยายพันธุ์เพิ่มต่อไป และได้ทรงประทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” ซึ่งคำว่า “นิล” นั้น นอกจากจะมีความหมายว่าเป็นอัญมณีที่มีค่าแล้ว ยังบ่งบอกถึงถิ่นกำเนิดของปลาชนิดนี้คือ แม่น้ำไนล์ (Nile) อีกด้วย

บทบาทด้านเศรษฐกิจของปลานิลในประเทศไทย



เมื่อ กรมประมงได้รับพระราชทานปลานิลมาแล้ว ก็ได้เร่งขยายพันธุ์ปลานิลตามสถานีประมงต่างๆ ทั่วประเทศอีก 15 แห่ง เพื่อขยายพันธุ์ไว้แจกจ่ายเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2510 เป็นต้นมา นับจำนวนได้หลายล้านตัว

ส่วนปลานิลที่คงเหลืออยู่ในบ่อวัง สวนจิตรลดา พระองค์ได้ทรงใช้ในการผลิตพันธุ์ปลานิลต่อมาโดยตลอด จนได้ปลานิลสายพันธุ์แท้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกและพากันเรียกว่า “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา” (Chitrada Strain) ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อวงการเพาะเลี้ยงปลานิลทั่วโลก


นับ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา การเพาะเลี้ยงปลานิลในประเทศไทยได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปีโดยไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้เพราะปลานิลเป็นปลาที่คนไทยนิยมบริโภคกันทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนปลาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น ในช่วงแรกของการเพาะเลี้ยงปลานิลจนถึงช่วงกลางคือ พ.ศ. 2535 การบริโภคภายในประเทศจึงเป็นตลาดสำคัญของการเพาะเลี้ยงปลานิลในประเทศไทย หลังจากนั้นการส่งออกปลานิลจึงเริ่มเกิดขึ้นและเติบโตในอัตราที่ค่อนข้างสูง มาโดยตลอด

ในขณะที่การเพาะเลี้ยงปลานิลมีการเติบโตในอัตรา ที่ค่อนข้างสูงโดยตลอด กรมประมงจึงต้องเตรียมการรองรับการขยายตัวดังกล่าวด้วยการปรับปรุงพันธุ์ปลา นิลให้มีรูปร่างและคุณสมบัติด้านต่างๆ ให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งได้สายพันธุ์ที่ชื่อว่า “จิตรลดา 3″ ในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งมีลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์ คือ

1. เพศ เป็นเพศผู้และเพศเมีย

2. รูปร่าง ส่วนหัวเล็ก ลำตัวกว้าง สันหนา

3. ผลผลิต ให้เนื้อสูงกว่าปลานิลพันธุ์ปกติ ร้อยละ 40

4. อัตรารอด สูงกว่าปลานิลพันธุ์ปกติ ร้อยละ 24

ใน ปัจจุบันนี้ ปลานิลพันธุ์จิตรลดา 3 นี่เองที่เป็นปลาพื้นฐานของการเพาะเลี้ยงปลานิลเพื่อส่งออก โดยนำลูกปลาจิตรลดา 3 มาแปลงเพศด้วยการให้กินฮอร์โมนตั้งแต่ถุงไข่แดงเริ่มยุบ จนกระทั่งลูกปลานิลมีอายุ 3-4 สัปดาห์ เพื่อแปลงเพศเมียให้เป็นเพศผู้ทั้งหมด เพราะปลานิลเป็นปลาที่เพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าและโตเร็วกว่าเพศเมีย รวมทั้งป้องกันการผสมพันธุ์ไม่ให้เกิดลูกปลานิลแน่นบ่ออีกด้วย

วิธีการเลี้ยงปลานิลหมัน




การเลี้ยงปลานิลในบ่อดิน






มีการเลี้ยงแล้วย้ายลูกปลาไปเลี้ยงในบ่อใหม่อีก 2 ครั้งคือ ครั้งแรกเมื่อเตรียมบ่อดิน ตากบ่อให้แห้งอย่างน้อย 3 วัน แล้วใส่ปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรค และปรับคุณภาพน้ำแล้วสูบน้ำเข้าบ่อโดยผ่านการกรองน้ำ เพื่อป้องกันศัตรูทางธรรมชาติอย่างรอบคอบแล้วปล่อยลูกปลานิลแปลงเพศ ขนาดเท่าใบมะขาม ลงเลี้ยงในบ่อ ประมาณ 20,000 ตัว ต่อไร่ ใช้อาหารที่มีระดับโปรตีนสูง 40% ในอัตราประมาณ 20% ของน้ำหนักปลา วันละ 5 มื้อ

เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 45 วัน ลูกปลามีน้ำหนักตัวละ 15-20 กรัม ก็ย้ายลูกปลาไปเลี้ยงในบ่อใหม่ที่เตรียมไว้อย่างดีแล้ว ในอัตรา 15,000 ตัว ต่อไร่ โดยเรียกว่า การเลี้ยงปลานิลรุ่น โดยให้อาหารที่มีโปรตีนน้อยลง คือประมาณ 32% โดยให้อาหาร 3-5% ของน้ำหนักตัวปลา เมื่อเลี้ยงไปได้ 60-75 วัน จะได้ลูกปลาขนาดน้ำหนักตัว ประมาณ 100 กรัม ก็จะย้ายลูกปลาไปเลี้ยงในบ่อใหม่ ในอัตรา 4,000-5,000 ตัว ต่อไร่ เรียกว่าการเลี้ยงปลาใหญ่ ให้อาหารที่มีระดับโปรตีน ประมาณ 28% ในอัตรา 2-3% ของน้ำหนักตัวต่อวัน

ซึ่งการเลี้ยงในบ่อนี้ ควรมีกังหันตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนในตอนกลางคืนด้วย เลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 5-6 เดือน จะได้ปลานิลขนาดน้ำหนัก 800-1,000 กรัม ก็จับขายได้



การเลี้ยงปลานิลในกระชัง



การเลี้ยงปลานิลในกระชัง

การเลี้ยงปลานิลในกระชัง จำเป็นต้องคัดเลือกแหล่งน้ำที่จะใช้ลอยกระชังให้เหมาะสม ดังนี้

1. เป็นแหล่งน้ำที่มีน้ำเพียงพอตลอดปีจะเป็นแหล่งน้ำเปิด คือ แม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำปิด เช่น อ่างเก็บน้ำก็ได้

2. มีความลึกได้น้อยกว่า 4 เมตร เพื่อให้สามารถลอยกระชัง ให้ก้นกระชังอยู่สูงกว่าก้นคลองได้ไม่น้อยกว่า 1 เมตร เพื่อให้กระแสน้ำไหลผ่านได้สะดวก

3. เป็นแหล่งน้ำที่มีน้ำค่อนข้างใส และมี pH ประมาณ 6.5-8.0 และค่าออกซิเจนในน้ำมีไม่น้อยกว่า 5 ppm.

4. ควรเป็นบริเวณโล่งแจ้ง มีวัชพืชในน้ำน้อยหรือไม่มีเลย

5. ไม่ขัดต่อกฎหมายกรมประมง

6. การคมนาคมสะดวก

7. ห่างไกลจากแหล่งน้ำเสียและชุมชนแออัด

รูปแบบกระชังปลานิลที่นิยมในปัจจุบัน

กระชังไม้

ไม่ ว่าจะเป็นไม้ไผ่ หรือไม้เนื้อแข็ง ส่วนใหญ่จะใช้ในแหล่งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลไม่แรงนัก ขนาดที่นิยมใช้ ได้แก่ 3x3x2 เมตร และ 4x6x3 เมตร

ข้อดี คือ ต้นทุนต่ำ

ข้อเสีย คือ อายุการใช้งานสั้น ประมาณ 2-5 ปี

กระชังเหล็ก

นิยมใช้กันในแหล่งน้ำปิด หรือแหล่งน้ำเปิดที่มีกระแสไหลเชี่ยว ขนาดที่นิยมคือ 3x3x1.5 เมตร และ 4x6x2 เมตร

ข้อดี คือ อายุการใช้งานยาว

ข้อเสีย คือ ต้นทุนสร้างกระชังสูง

วิธีเลี้ยงปลานิลในกระชัง

ปล่อยลูกปลาแปลงเพศ ขนาดตั้งแต่ น้ำหนัก 30-40 กรัม ต่อตัว ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 100 ตัว ต่อ 1 ตารางเมตร

อาหารและการให้อาหารปลานิล

ใช้อาหารที่มีระดับโปรตีนประมาณ 28-30% เลี้ยงวันละ 3 มื้อ ในสัดส่วนประมาณ 5-6% ของน้ำหนักปลา หรือคอยสังเกตการกินอาหารของปลาในขณะให้อาหาร ถ้าหว่านอาหารลงไปแล้วปลาสามารถกินได้หมดภายใน 5-8 นาที ก็หยุดให้ เมื่อเลี้ยงไปได้ประมาณ 45 วัน จึงปรับอาหารให้มีโปรตีนต่ำลง ให้วันละ 3 มื้อ ประมาณ 3-5% ของน้ำหนักตัวไปอีก 1 เดือน จึงปรับเปลี่ยนอาหารที่มีระดับโปรตีนต่ำลงอีก 2-3% โดยให้วันละ 2-4 มื้อ เรื่อยไปจนปลาได้ขนาด 800-1,000 กรัม จึงจับขาย


ต้นทุนการเลี้ยงปลานิล

1. ค่ากระชังพร้อมแพ 5,500-6,000 บาท

(คิดค่าเสื่อมราคาต่อรอบการเลี้ยง 600 บาท)

2. ค่าพันธุ์ปลา 1,000 ตัวx3 บาท 3,600 บาท

3. ค่าอาหาร 26,600-30,400 บาท

4. อื่นๆ ประมาณ 1,000 บาท

รวมต้นทุนการเลี้ยงต่อรอบ 31,800-35,600 บาท

รวมต้นทุนตั้งแต่เริ่มเลี้ยง 36,700-41,500 บาท

ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ

ได้ปลา 1,000 กิโลกรัมx38 บาท ต่อกระชัง 38,000 บาท

หักต้นทุน 31,800-35,600 บาท กำไร 6,250-2,400 บาท







1 ความคิดเห็น:

Tadata กล่าวว่า...

ขอขอบคุณ ลูกลำปาว อย่างสูง ที่กรุณาให้ความรู้ บอกเล่าประสบการณ์ เพื่อคนไทยมีกิจการตนเอง ไม่ต้องทิ้งถิ่นถานไปรับจ้าง ไปเปนทาสต่างถิ่น แดนไกล ให้ใคร ๆ เค้าหมิ่น เหยียดหยาม ฯ " คนอิสานเปนได้แค่ขี้ข้า ฯ " สุดเจ็บแค้น เคยดูทีวี ชาวต่างชาติเปนลูกเขยอิสาน ทำการเกษตร น่าภูมิใจมาก ๆ ครับ

แสดงความคิดเห็น