วิธีการปลูกเห็ดระโงก ปลูกป่าไว้หาเห็ด ได้ทั้งไม้ใช้สอย ได้ทั้งเห็ดไว้ขาย ผลประโยชน์หลายต่อ....

4.6.63

ช่วงนี้เริ่มเข้าหน้าฝน ฝนฟ้าตกหนักแทบทุกวัน วันนี้ Blogger ลูกลำปาว จะมานำเสนอเรื่องราวของอาหารที่มาพร้อมกับหน้าฝน นั้นก็คือเห็ดป่านั้นเอง และที่จะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้ นั้นก็คือ ราชาแห่งเห็ดป่า ที่ใครๆได้ลองกินแล้วจะต้องติดใจ นั้นก็คือ เห็ดระโงก หรือ เห็ดไข่ห่าน ที่นับวันยิ่งราคาแพงสูงลิบ เพราะหากินได้เฉพาะหน้าฝนเท่านั้นครับ....และตอนนี้เห็ดป่าหายากราคาแพงชนิดนี้สามารถเพาะปลูกได้เป็นที่สำเร็จแล้ว...


        เห็ดระโงก เรียกอีกชื่อว่า เห็ดไข่ห่าน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Amanita vaginata มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ออกในฤดูฝน เห็ดระโงกมีทั้งสีขาว สีแดงและสีเหลือง ดอกตูมกลีบรี คล้ายไข่ห่าน เมื่อโตขึ้นหมวกและก้านดอกจะดันปลอกหุ้มแตกออกมา สปอร์และครีบสีขาว แล้วแต่สายพันธุ์ ดอกเห็ดมีลักษณะเป็นเมือก ขอบหมวกมีร่องเล็กๆตรงกันกับครีบ เมื่อดอกบานขอบหมวกจะขาดตามรอยนี้ ด้านล่างหมวกมีครีบสีขาว ก้านดอกยาวเป็นทรงกระบอก ผิวเรียบสีขาวหรือเหลืองนวล เนื้อเยื่อภายในก้านดอกสีขาว และสานต่อกันอย่างหลวมๆ ตรงกลางก้านดอกมีรูกลวงเล็กน้อย เกิดเองตามธรรมชาติมักขึ้นเป็นกลุ่มเล็กๆ พบได้ ตามป่าโปร่งหรือป่าละเมาะทั่วไป ของภาคอีสานและภาคเหนือ เห็ดระโงกสามารถประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงเห็ดระโงกใส่ใบมะขามอ่อน เห็ดระโงกนึ่งจิ้มแจ่ว เห็ดระโงกเผาไฟตำน้ำพริก หรือจะนำไปผัดน้ำมันหอยก็ได้เช่นกัน ปัจจุบันมีเกษตรกรสามารถเพาะเห็ดชนิดนี้ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว..........
นำสปอร์ดอกเห็ดที่แก่ไปผสมน้ำรดต้นกล้าเพาะเห็ดระโงก

วิธีการเพาะเห็ดระโงก หรือ เห็ดไข่ห่าน
         สำหรับวิธีการเพาะเห็ดระโงกหรือเห็ดไข่ห่านทำได้ง่ายๆ แต่ต้องใช้เวลานิดนึงครับ โดยให้นำดอกเห็ดระโงกที่แก่จัดแล้วมาขยี้ผสมน้ำ นำไปรดกับต้นกล้าตั้นพืชในวงศ์ยางนา ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง เต็ง รัง พลวง เหียง พะยอม กระบาก เป็นต้น" หลังจากที่เรานำต้นพืชไปปลูกจนเจริญเติบโต ประมาณปีที่ 5 ขึ้นไป เห็ดก็จะเริ่มออก เห็ดจะออกประมาณ 4-5 ครั้ง โดยจะมีเยอะที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาและสิงหาคม จริงๆแล้วเห็ดเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในราที่มีชื่อว่า ไมคอร์ไรซ่า (Mycorrhiza) ซึ่งเห็ดป่าที่เราเห็นขายตามข้างทางเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เห็ดเผาะ เห็ดระโงกเหลือง เห็ดตะไค เห็ดน้ำหมากและอื่นๆ ก็จัดเป็น ไมคอร์ไรซา ที่อาศัยอยู่ที่ส่วนปลายของรากฝอย ของพืชในวงศ์ยางนา


ไมคอร์ไรซ่า ของเห็ดจะอาศัยกับต้นไม้ตามที่กล่าวมา แบบภาวะพึ่งพา (Mulualism) โดยจะเกาะอยู่ที่ปลายรากฝอย คอยดูดน้ำ ธาตุอาหาร และป้องกันเชื้อโรคให้กับต้นไม้ ที่มันอาศัยอยู่ ส่วนและตัวไมคอร์ไรซ่า ก็จะดูดอาหาร จากรากพืชอีกที และเมื่อ อุณหภูมิ ความชื้น ธาตุอาหารเหมาะสม ก็จะโผล่พ้นจากดิน กลายเป็นดอกเห็ด ตามที่เราเห็นนั้นเอง แต่เห็ดจะเปลี่ยนไปตามสภาพความสมบูรณ์ของป่า ยิ่งป่าสมบูรณ์ชนิดและจำนวนของเห็ดก็จะมากขึ้น


       สำหรับการทำให้เกิดเห็ดระโงกนั้น สวนป่าควรมีเรือนยอดปกคลุม 70-50 % หรืออีกในหนึ่ง คือมีแสงส่องถึงพื้นดิน ประมาณ 30-50 % และมีเศษใบไม้ที่ย่อยสลายไม่หมดหนาไม่เกิน 2 เซนติเมตร พื้นสวนไม่มีวัชพืชหนาแน่น และที่สำคัญต้องไม่มีสารเคมีใดๆ รวมถึงการรบกวนพื้นสวน หลังจากฝนตกหนักๆ 2-3 วันและมีแดดส่องถึงพื้น อากาศอบอ้าว เห็ดก็จะเริ่มทยอยงอกจากดิน เป็นแถว ตามแนวรากของต้นไม้

นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถเพาะเห็ดระโงกและเห็ดป่าได้เช่นกัน คือนำดอกแก่ๆมาขยี้ แล้วนำไปฝังตามบริเวณรากของต้นไม้ตระกูลยางนาที่โตแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป อุณหภูมิ ความชื้น ธาตุอาหารเหมาะสม ก็จะโผล่พ้นจากดิน กลายเป็นดอกเห็ดให้เราได้เก็บไปประกอบอาหารและจำหน่ายได้เหมือนกัน

จะเห็นได้ว่าการเพาะเห็ดระโงกไม่ได้ยากเย็นเลยครับ และยังเราได้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือเมื่อต้นไม้ที่โตแล้วสามารถนำมาใช้สอยหรือนำไปแปรรูปได้ครับ โดยปัจจุบันเราสามารถปลูกป่าแล้วไปขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้เป็นสวนป่า ทีนี้ป่าไม้ที่เราปลูกเราก็สามารถตัดและนำไปแปรรูป หรือขายได้ราคาดีไม่น้อยเหมือนกัน เพราะต้นยางนาต้นที่โตๆ ราคาหลักหมื่นบาทต่อต้นเลยทีเดียว เป็นการปลูกป่าไว้หาเห็ด และเก็บออมเนื้อไม้ไว้ขายในอนาคต เป็นการวางแผนเพื่ออนาคตที่เข้าท่าไม่น้อยเลยทีเดียว..........

สภาพป่าที่เหมาะสมสำหรับเพาะเห็ดระโงก

แกงเห็ดระโงก อาหารเลิศรสจากผืนป่า


วิดีโอคลิป ปลูกยางนาได้กินเห็ดระโงก



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น