อ้อยแดงยาดีมีมาแต่โบราณ

12.6.53



อ้อยแดง
อ้อยแดง หรือ SUGARCANE, SACCHARUM OFFICINARUM LINN. อยู่ในวงศ์ GRAMINEAE เป็นอ้อยที่นิยมปลูกกันตามหัวไร่ปลายนามาแต่โบราณแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ทางยาเท่านั้น เนื่องจากเปลือกต้นของ “อ้อยแดง” มีรสขม และ น้ำที่ได้ก็ไม่หวานแหลมนัก หากปลูกเพื่อปอกเปลือกแล้วควั่นเป็นข้อขายไม่มีคนซื้อรับประทานอย่างแน่นอน ลำต้นสูง 2-5 เมตร เปลือกต้นเป็นสีม่วงแดงจนเกือบดำ มีไขสีขาวปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรียาว ปลายแหลม โคนเรียว และเป็นกาบหุ้มลำต้น ผิวใบจะเป็นสีม่วงอ่อนปนสีม่วงเทา ดูแปลกตามาก

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเป็นสีขาว “ผล” ขนาดเล็ก มักเป็นผลแห้ง ไม่แตกอ้า ภายในมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำต้น มีชื่อเรียกอีก คือ อ้อยขม และ อ้อยดำ ชาวจีนนิยมใช้ “อ้อยแดง” ทั้งต้นผูกติดหน้ารถยนต์ที่จะนำตัวเจ้าสาวไปส่งให้บ้านเจ้าบ่าว ถือว่าเป็นมงคลกับคู่แต่งงานเป็นยิ่งนัก ซึ่งอ้อยมีหลายสายพันธุ์ จะมีความแตกต่างกันที่ความสูงของต้น ความยาวระหว่างข้อ และสีของลำต้น แต่ละพันธุ์ยังมีรสชาติต่างกันอีกด้วย

ประโยชน์ทางยา ตำรายาไทย ใช้ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ลำต้นสด 70-90 กรัม หรือลำต้นแห้ง 30-40 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กต้มกับน้ำจนเดือด แบ่งดื่มวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร แก้ไตพิการ หนองใน ขับนิ่ว และยังใช้ขับเสมหะได้ด้วย ตำรายาโบราณบอกว่า เอาทั้งต้นของ “อ้อยแดง” แบบสด หรือเผาไฟนำไปหีบหรือคั้นเอาเฉพาะน้ำ ซึ่งมีรสหวานขม มีกลิ่นหอมเมื่อถูกเผา กินเป็นยา แก้เสมหะ หืด ไอ แก้ไข้สัมปะชวน ทั้งต้นควั่นตากแห้งต้มน้ำกินแก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว ขัดเบา ช้ำรั่วได้ ตา ของ “อ้อยแดง” จะมีรสขมกว่าเปลือกเยอะ นิยมนำไปปรุงเป็นยาแก้ตัวร้อน ดับพิษตานซางในเด็ก และบำรุงธาตุ ทำให้เกิดกำลังดีมาก ใครต้องการต้น “อ้อยแดง” ไปปลูก ลองติดต่อ “คุณพร้อมพันธุ์” ตามสถานที่ที่กล่าวข้างต้น อาจจัดหาให้ได้ครับ.

ขอบคุณ: บทความดีๆจาก ไทยรัฐ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น