วิธีการปลูกเห็ดระโงก ปลูกป่าไว้หาเห็ด ได้ทั้งไม้ใช้สอย ได้ทั้งเห็ดไว้ขาย ผลประโยชน์หลายต่อ....

4.6.63

ช่วงนี้เริ่มเข้าหน้าฝน ฝนฟ้าตกหนักแทบทุกวัน วันนี้ Blogger ลูกลำปาว จะมานำเสนอเรื่องราวของอาหารที่มาพร้อมกับหน้าฝน นั้นก็คือเห็ดป่านั้นเอง และที่จะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้ นั้นก็คือ ราชาแห่งเห็ดป่า ที่ใครๆได้ลองกินแล้วจะต้องติดใจ นั้นก็คือ เห็ดระโงก หรือ เห็ดไข่ห่าน ที่นับวันยิ่งราคาแพงสูงลิบ เพราะหากินได้เฉพาะหน้าฝนเท่านั้นครับ....และตอนนี้เห็ดป่าหายากราคาแพงชนิดนี้สามารถเพาะปลูกได้เป็นที่สำเร็จแล้ว...


        เห็ดระโงก เรียกอีกชื่อว่า เห็ดไข่ห่าน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Amanita vaginata มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ออกในฤดูฝน เห็ดระโงกมีทั้งสีขาว สีแดงและสีเหลือง ดอกตูมกลีบรี คล้ายไข่ห่าน เมื่อโตขึ้นหมวกและก้านดอกจะดันปลอกหุ้มแตกออกมา สปอร์และครีบสีขาว แล้วแต่สายพันธุ์ ดอกเห็ดมีลักษณะเป็นเมือก ขอบหมวกมีร่องเล็กๆตรงกันกับครีบ เมื่อดอกบานขอบหมวกจะขาดตามรอยนี้ ด้านล่างหมวกมีครีบสีขาว ก้านดอกยาวเป็นทรงกระบอก ผิวเรียบสีขาวหรือเหลืองนวล เนื้อเยื่อภายในก้านดอกสีขาว และสานต่อกันอย่างหลวมๆ ตรงกลางก้านดอกมีรูกลวงเล็กน้อย เกิดเองตามธรรมชาติมักขึ้นเป็นกลุ่มเล็กๆ พบได้ ตามป่าโปร่งหรือป่าละเมาะทั่วไป ของภาคอีสานและภาคเหนือ เห็ดระโงกสามารถประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงเห็ดระโงกใส่ใบมะขามอ่อน เห็ดระโงกนึ่งจิ้มแจ่ว เห็ดระโงกเผาไฟตำน้ำพริก หรือจะนำไปผัดน้ำมันหอยก็ได้เช่นกัน ปัจจุบันมีเกษตรกรสามารถเพาะเห็ดชนิดนี้ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว..........
นำสปอร์ดอกเห็ดที่แก่ไปผสมน้ำรดต้นกล้าเพาะเห็ดระโงก

วิธีการเพาะเห็ดระโงก หรือ เห็ดไข่ห่าน
         สำหรับวิธีการเพาะเห็ดระโงกหรือเห็ดไข่ห่านทำได้ง่ายๆ แต่ต้องใช้เวลานิดนึงครับ โดยให้นำดอกเห็ดระโงกที่แก่จัดแล้วมาขยี้ผสมน้ำ นำไปรดกับต้นกล้าตั้นพืชในวงศ์ยางนา ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง เต็ง รัง พลวง เหียง พะยอม กระบาก เป็นต้น" หลังจากที่เรานำต้นพืชไปปลูกจนเจริญเติบโต ประมาณปีที่ 5 ขึ้นไป เห็ดก็จะเริ่มออก เห็ดจะออกประมาณ 4-5 ครั้ง โดยจะมีเยอะที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาและสิงหาคม จริงๆแล้วเห็ดเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในราที่มีชื่อว่า ไมคอร์ไรซ่า (Mycorrhiza) ซึ่งเห็ดป่าที่เราเห็นขายตามข้างทางเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เห็ดเผาะ เห็ดระโงกเหลือง เห็ดตะไค เห็ดน้ำหมากและอื่นๆ ก็จัดเป็น ไมคอร์ไรซา ที่อาศัยอยู่ที่ส่วนปลายของรากฝอย ของพืชในวงศ์ยางนา


ไมคอร์ไรซ่า ของเห็ดจะอาศัยกับต้นไม้ตามที่กล่าวมา แบบภาวะพึ่งพา (Mulualism) โดยจะเกาะอยู่ที่ปลายรากฝอย คอยดูดน้ำ ธาตุอาหาร และป้องกันเชื้อโรคให้กับต้นไม้ ที่มันอาศัยอยู่ ส่วนและตัวไมคอร์ไรซ่า ก็จะดูดอาหาร จากรากพืชอีกที และเมื่อ อุณหภูมิ ความชื้น ธาตุอาหารเหมาะสม ก็จะโผล่พ้นจากดิน กลายเป็นดอกเห็ด ตามที่เราเห็นนั้นเอง แต่เห็ดจะเปลี่ยนไปตามสภาพความสมบูรณ์ของป่า ยิ่งป่าสมบูรณ์ชนิดและจำนวนของเห็ดก็จะมากขึ้น


       สำหรับการทำให้เกิดเห็ดระโงกนั้น สวนป่าควรมีเรือนยอดปกคลุม 70-50 % หรืออีกในหนึ่ง คือมีแสงส่องถึงพื้นดิน ประมาณ 30-50 % และมีเศษใบไม้ที่ย่อยสลายไม่หมดหนาไม่เกิน 2 เซนติเมตร พื้นสวนไม่มีวัชพืชหนาแน่น และที่สำคัญต้องไม่มีสารเคมีใดๆ รวมถึงการรบกวนพื้นสวน หลังจากฝนตกหนักๆ 2-3 วันและมีแดดส่องถึงพื้น อากาศอบอ้าว เห็ดก็จะเริ่มทยอยงอกจากดิน เป็นแถว ตามแนวรากของต้นไม้

นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถเพาะเห็ดระโงกและเห็ดป่าได้เช่นกัน คือนำดอกแก่ๆมาขยี้ แล้วนำไปฝังตามบริเวณรากของต้นไม้ตระกูลยางนาที่โตแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป อุณหภูมิ ความชื้น ธาตุอาหารเหมาะสม ก็จะโผล่พ้นจากดิน กลายเป็นดอกเห็ดให้เราได้เก็บไปประกอบอาหารและจำหน่ายได้เหมือนกัน

จะเห็นได้ว่าการเพาะเห็ดระโงกไม่ได้ยากเย็นเลยครับ และยังเราได้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือเมื่อต้นไม้ที่โตแล้วสามารถนำมาใช้สอยหรือนำไปแปรรูปได้ครับ โดยปัจจุบันเราสามารถปลูกป่าแล้วไปขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้เป็นสวนป่า ทีนี้ป่าไม้ที่เราปลูกเราก็สามารถตัดและนำไปแปรรูป หรือขายได้ราคาดีไม่น้อยเหมือนกัน เพราะต้นยางนาต้นที่โตๆ ราคาหลักหมื่นบาทต่อต้นเลยทีเดียว เป็นการปลูกป่าไว้หาเห็ด และเก็บออมเนื้อไม้ไว้ขายในอนาคต เป็นการวางแผนเพื่ออนาคตที่เข้าท่าไม่น้อยเลยทีเดียว..........

สภาพป่าที่เหมาะสมสำหรับเพาะเห็ดระโงก

แกงเห็ดระโงก อาหารเลิศรสจากผืนป่า


วิดีโอคลิป ปลูกยางนาได้กินเห็ดระโงก



READ MORE - วิธีการปลูกเห็ดระโงก ปลูกป่าไว้หาเห็ด ได้ทั้งไม้ใช้สอย ได้ทั้งเห็ดไว้ขาย ผลประโยชน์หลายต่อ....

วิธีการปลูกมะพ้ราวน้ำหอมให้ลูกดกและได้ผลผิตเร็ว พืชเศรษฐกิจสารพัดประโยชน์ ปลูกง่าย โตเร็ว ดูแลง่าย เก็บเกี่ยวได้ยาวนาน.....

3.6.63

ภาพโดย Cheapsalemarket

วันนี้ Blogger ลูกลำปาว จะขอนำเสนอวิธีการปลูกมะพร้าวน้ำหอมพืชสารพัดประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง ให้ลูกดกและได้ผลผลิตเร็ว เก็บเกี่ยวได้ยาวนาน มะพร้าวน้ำหอมสามารถนำไปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่นทำมะพร้าวปั่น ทำน้ำมะพร้าว ทำวุ้นมะพร้าว ลูกแก่นำไปเป็นส่วนประกอบของขนม จั่นมะพร้าวสามารถเก็บน้ำตาลมะพร้าวได้ น้ำมันมะพร้าวนำไปทำเครื่องสำอางเป็นต้น ส่วนวิธีการปลูกนั้นเป็นอย่างไร ไปดูกันครับ......

ภาพโดย nanagarden

ขั้นแรกอยู่ที่การเลือกต้นพันธุ์ครับ ลักษณะของต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ดีข้อแรกคือ มันต้องหอมครับ....ใช่แล้วมันต้องหอม ถึงจะเรียกมะพร้าวน้ำหอม โดยมีวิธีการเทสโดย ลองตัดที่ปลายรากที่โผล่พ้นมา จะมีกลิ่นหอมเหมือนใบเตย และสังเกตปลายรากจะมีสีชมพู 


    ส่วนมะพร้าวน้ำหอมที่จะให้ลูกดกและเจริญเติบโตดีลักษณะลูกจะตูดแหลม ลูกเล็ก หัวหนีบ ถ้าพวกลูกสวยๆ เมื่อนำไปปลูกจะลูกไม่ดก...
      เมื่อเราเลือกต้นพันธุ์ได้แล้วเราต้องมีการเตรียมต้นพันธุ์ก่อนปลูกเพื่อจะให้ต้นพันธุ์ที่นำไปปลูกฟื้นตัวเร็วและเจริญเติบโตดี..... โดยการชำในถุงดำก่อน เลี้ยงให้มีใบประมาณ 3-4 ใบก่อน ต้นจะยาวประมาณ 1 ฟุตเป็นอันใช้ได้....


ภาพโดย nanagarden

เมื่อเตรียมต้นพันธุ์เสร็จต่อไปเป็นการเตรียมหลุมปลูก ให้ขุดหลุม กว้างxยาวxลึก ประมาณ 50x50x50 โดยให้มีระยะห่างประมาณ 6x6 เมตร ปลูกสลับฟันปลาเพื่อให้ต้นมะพร้าวไม่แออัดและทำให้เรือนใบไม่ชนกัน ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี รองก้นหลุมด้วยยากันปลวกและปุ๋ยคอกคลุกเคล้าให้เข้ากันกับดิน โดยนำดินลงไปในหลุมประมาณ 3/4 ของหลุม จากนั้นนำมะพร้าวลงไปนอนเอียงไปทางทิศตะวันออก ทำแบบนี้ต้นมะพร้าวจะโตเร็ว โคนต้นสวย และต้นเตี้ย จากนั้นนำดินกลบ พยายามอย่ากลบโคนต้นให้มิด ควรกลบดินประมาณ 2/3 ของผล ให้แสงแดดส่องถึงลูกด้านบน จากนั้นนำฟางมาคลุมรอบๆเพื่อรักษาความชื้น ช่วงแรกๆรดน้ำทุก 1-2 วันจนกว่าต้นจะแข็งแรง เทคนิคที่จะทำให้โตไวคือต้องไม่กลบลูกให้มิด ไม่ตัดใบหรือกาบใดๆทั้งสิ้นเพื่อให้ต้นมะพร้าวสามารถปรุงอาหารได้เต็มที่ ถ้าก้านไหนขวางทางใช้วิธีเอาเชือกมาผูกไว้แทน และใส่ปุ๋ยคอกบ่อยๆรอบทรงพุ่มทุก 2-3 เดือนต่อครั้ง ควรใส่รอบห่างๆต้นเพื่อล่อให้รากขยายไปเรื่อยๆ แต่อยู่ในทรงพุ่ม เพราะต้นไม้ ลักษณะการออกรากจะยาวไปหากินสุดตรงทรงพุ่มสุด

ภาพโดย Kasetporpeang

สำหรับเคล็ดลับที่จะทำให้มะพร้าวลูกดกนั้น ควรโรยเกลือแกงรอบทรงพุ่ม 1กก./ต้น/ปี อาจจะแบ่งใส่ 3ครั้งก็ได้ ใส่มูลไก่รอบทรงพุ่ม ใส่ได้บ่อยๆ ปีละ 3-4ครั้ง ใช้ได้ทั้งมูลไก่แกลบและมูลไก่ล้วน ใส่ครั้งละ1ถุง ตามความเหมาะสม สามารถปรับเปลี่ยนได้ เสริมด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 25-7-7 สำหรับต้นที่ยังไม่ให้ผล และ เสริมด้วยปุ๋ยสูตรเน้นตัวท้าย 8-24-24 สำหรับต้นที่ให้ผลแล้ว และใส่สูตรปุ๋ยเพิ่มความหวาน สำหรับมะพร้าวน้ำหอม 13-13-21 ใส่ปริมาณ 1-2กิโลกรัม/ต้น/ปี

ด้วงงวงมะพร้าว

ภาพโดย wikipedia

แน่นอน การปลูกมะพร้าวนั้นมีศัตรูตัวฉกาจที่จะคอยกัดกินยอด ทำให้มะพร้าวเราตายได้ ที่ควรระวังคือด้วงงวงมะพรา้ว ,ด้วงแรดมะพร้าว ,แมลงดำหนามมะพร้าว และหนอนหัวดำมะพร้าว...ศัตรูพืชพวกนี้ต้องคอยระวังให้ดี 

ด้วงงวงมะพร้าวจะวางไข่ในยอดและรูที่ด้วงแรดเจาะ และจะเกิดเป็นตัวหนอนกัดกินในต้นมะพร้าวจะทำให้ยอดเน่าและต้นมะพร้าวตาย

ภาพโดย Kasetporpeang

ด้วงแรดมะพร้าว


ภาพโดย กรมวิชาการเกษตร

ด้วงแรดมะพร้าว
มันจะออกหากินกลางคืน มีพื้นที่การวางไข่คือ กองปุ๋ยหมัก,มูลสัตว์ และกองเศษซากพืช มันจะกัดเจาะกินโคนทางใบมะพร้าวและกัดกินยอดอ่อนมะพร้าว 

วิธีลดจำนวนด้วงมะพร้าว
รักษาสวนให้สะอาด ไม่สะสมเศษซากพืชหรือกองปุ๋ยหมักไว้ในสวนมะพร้าว ใช้เชื้อราเขียวกำจัดหนอนด้วง ใช้ถังกับดักฟีโรโมน ล่อตัวเต็มวัยให้มาติดในถัง หรือใช้ตาข่ายดักปลาตาถี่พันบริเวณคอมะพร้าวเป็นต้น

วิธีป้องกันกำจัดด้วงมะพร้าว
ใช้น้ำมันเครื่องผสมน้ำมันยาง ทาบริเวณรอยกัดเจาะของด้วงแรด เพื่อป้องกันไม่ให้ด้วงงวงมาวางไข่
ใช้ทรายหยาบหรือทรายก่อสร้าง ใส่ในกาบใบมะพร้าวเมื่อด้วงแรดเจาะเข้ามาจะทำให้ทรายเข้าในคอด้วง ขยับตัวได้ลำบากและตายในที่สุด ใส่ลูกเหม็นที่กาบใบมะพร้าวรอบๆยอด ประมาณ 6-8 ลูก/ต้น เป็นการใช้กลิ่นไล่ เพื่อไม่ให้ด้วงหรือแมลงอื่นๆเข้ามา (ลูกเหม็นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงไม่แนะนำให้ใช้ในบริเวณที่อยู่อาศัย )


แมลงดำหนามมะพร้าว
ภาพโดย กรมวิชาการเกษตร

แมลงดำหนามมะพร้าว
ตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะกัดกินยอดอ่อนที่สุดของมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ โดยซ่อนตัวในใบอ่อนที่พับอยู่ และจะย้ายไปกินอีกใบอ่อนอีกใบหลังจากที่ใบเดิมคลี่ออก ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต เมื่อมีการทำลายรุนแรงหลายๆ ใบในแต่ละต้นจะมองเห็นเป็นสีขาวโพลนชัดเจน ซึ่งชาวสวนมะพร้าว เรียกว่า “โรคหัวหงอก” ระยะตัวหนอนสำคัญที่สุด เพราะทำลายได้รุนแรงกว่าตัวเต็มวัย โดยเฉพาะในพื้นที่มีมีอากาศแห้งแล้งและขาดน้ำ





แนวทางการควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าว

1.ใช้วิธีกล ในมะพร้าวต้นเตี้ย ตัดยอดที่ถูกแมลงกัดกินมาเก็บไข่ หนอนและตัวเต็มวัยไปทำลาย
2.ใช้ชีววิธี โดยใช้ตัวห้ำ ตัวเบียนและเชื้อจุลินทรีย์ เช่น แมลงหางหนีบ แตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว และเชื้อเมตตาไรเซียม
2.1 แมลงหางหนีบ กินไข่ หนอนและดักแด้
2.2 ใช้แตนเบียนทำลายแมลงดำหนามมะพร้าว Asecodes hipinarum
แตนเบียนจะช่วยทำลายหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว พฤติกรรมการเข้า
ทำลายของแตนเบียน เกิดจากเพศเมียที่ผสมพันธุ์แล้วจะใช้อวัยวะ
วางไข่แทงเข้าไปในลำตัวของหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว
หนอนแตนเบียนที่เกิดขึ้นภายในตัวแมลงดำหนามฟักออกเป็นไข่
ดูดกินของเหลว แล้วเข้าทำลายตัวแมลงในที่สุด ระยะการเจริญ
หนอนแมลงดำหนามถูกแตนเบียนทำลาย เติบโตตั้งแต่ไข่จนถึงตัวเต็มวัยประมาณ 17-20 วัน
2.3 เชื้อราเขียวเมตตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae)
อัตราการใช้ 1 กิโลกรัม/น้ำ 20 ลิตร (นำเชื้อราที่เจริญบน
เมล็ดธัญพืชมาขย้ำเพื่อแยกกากออกและเอาเฉพาะสปอร์
ที่อยู่ในของเหลว) ผสมสารจับใบ ฉีดพ่นบนยอดมมะพร้าว
กำจัดหนอน ดักแด้และตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามมะพร้าว
หนอนแมลงดำหนามถูกทำลายโดยเชื้อเมตตาไรเซี่ยม
3. ใช้สารเคมี ใช้สารเคมีมีที่มีอันตรายน้อยและสลายตัวเร็ว เช่น คาร์บาริล (เซฟวิน 85% wp) อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในแปลงเพาะกล้าพืชตระกูลปาล์ม ก่อนการเคลื่อนย้ายจากแหล่งที่มีการระบาดทุกครั้ง
4. การกักกันการเคลื่อนย้ายต้นกล้าและพืชอาศัยตระกูลปาล์มจากพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของแมลงดำหนามมะพร้าว

หนอนหัวดำมะพร้าว
ภาพโดย malaeng.com
หนอนหัวดำมะพร้าว
ตัวหนอนจะกัดแทะผิวใบแก่และสร้างใยถักพันโดยใช้มูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้นทำเป็นอุโมงค์ยาวตามแนวของใบมะพร้าว คล้ายอุโมงค์ทางเดินของปลวก ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบตามทางยาวของอุโมงค์ ตัวหนอนที่โตเต็มที่จะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้งและเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดลำตัวยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมียเล็กน้อย การระบาดเข้าทำลายมะพร้าวที่เกิดอย่างรุนแรง จะทำให้ผลผลิตมะพร้าวลดลงมากกว่าร้อยละ 50 หากเกิดระบาดรุนแรงติดต่อกันนาน จะทำให้ต้นมะพร้าวตายได้

การควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว
1. ตัดทางใบที่ถูกหนอนหัวดำทำลายมาเผา เพื่อทำลายหนอนหัวดำในระยะไข่ ระยะตัวหนอนและระยะดักแด้ โดยเกษตรกรต้องหมั่นเข้าไปสำรวจทางใบมะพร้าวถ้าพบมีการทำลายของหนอนหัวดำให้ตัดทางใบนั้นมาเผาทำลายทันที ส่วนในกรณีที่มีการระบาดรุนแรง ในต้นมะพร้าวต้นเดียวกันจะมีทางใบที่ถูกทำลายจนเป็นสีน้ำตาลทั้งทางใบและทางใบที่ถูกทำลายเป็นบางส่วน ควรตัดทางใบที่ถูกทำลายทั้งหมดมาเผา เกษตรกรบางรายจะไม่ยอมตัดทางใบมะพร้าวมาเผาทำลายเนื่องจากกลัวว่าต้นมะพร้าวจะตาย ข้อมูลทางวิชาการพบว่าถ้าต้นมะพร้าวยังมีทางใบเขียวที่สมบูรณ์อยู่บนต้น ตั้งแต่ 13 ทางใบขึ้นไปจะไม่กระทบต่อผลผลิตของมะพร้าว แต่ถ้ามีทางใบเขียวที่สมบูรณ์เหลืออยู่บนต้น 3 ใบ อาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้

2. พ่นด้วยเชื้อ Bacillus thruringiensis (Bt) หลังจากตัดทางใบที่ถูกทำลายมาเผาแล้ว ตัวเต็มวัยของหนอนหัวดำซึ่งเป็นผีเสื้อจะมาวางไข่ใหม่บนทางใบสีเขียวที่เหลืออยู่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เชื้อ Bt ฉีดพ่นหนอนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ จำนวน ๓ ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน ๗ – ๑๐ วัน โดยใช้เชื้อ Bt อัตรา 80-100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมด้วย สารจับใบตามอัตราแนะนำในฉลาก ไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่มีแสงแดดจัดเพราะจะทำให้เชื้อ Bt อ่อนแอ ควรฉีดพ่นก่อนเวลา 10.00 น. และหลัง 16.00 น. และต้องใช้เชื้อ Bt ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรแล้วเท่านั้น
3. ปล่อยแตนเบียนไข่ Trichogramma sp. เพื่อควบคุมระยะไข่ ของหนอนหัวดำ อัตราไร่ละ 10 แผ่นแผ่นละ ๒,๐๐๐ ตัว โดยปล่อย 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 2 สัปดาห์ โดยนำแผ่นแตนเบียนไข่ไปแขวนไว้กับต้นมะพร้าวหรือพืชอื่นๆ ภายในสวนมะพร้าวให้กระจายทั่วทั้งแปลง ควรใช้วัสดุหรือสารป้องกันมดไม่ให้มาทำลายแผ่นแตนเบียนและวัสดุกันแดด ฝน ก่อนที่แตนเบียนจะฟักเป็นตัวเต็มวัย
4. ปล่อยแตนเบียนหนอน Bracon hebetor เพื่อควบคุมระยะหนอน ของหนอนหัวดำ อัตราไร่ละ ๒๐๐ ตัว กระจายทั่วทั้งแปลง โดยปล่อย 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ก่อนและหลังการปล่อยแตนเบียนควรมีการสุ่มตัดทางใบมะพร้าวมาตรวจนับจำนวนไข่ หนอน และดักแด้ รวมทั้งแตนเบียนที่พบหลังการปล่อยควบคุมเพื่อเป็นข้อมูลในการปล่อยแตนเบียนในครั้งต่อๆไป

5. ใช้สารเคมี emamectin benzoate 1.92 % EC ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อต้นซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้ทำการทดสอบโดยการเจาะลำต้นมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร จำนวน 2 รู ให้รูอยู่ตรงกันข้ามกัน ขนาดกว้าง 4 หุน ลึก 10 เซ็นติเมตร ใส่สารรูละ 15 มิลลิลิตรแล้วใช้ดินน้ำมันอุดรูทันที จากการตรวจสอบพิษตกค้างไม่พบพิษตกค้างในเนื้อและน้ำมะพร้าวทั้งในผลอ่อนและผลแก่ โดยแนะนำให้ฉีดเข้าลำต้น เฉพาะมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ขึ้นไป ห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิเนื่องจากผลวิจัยนี้ยังไม่ครอบคลุมถึง



โรคที่สำคัญในการปลูกมะพร้าว

โรคยอดเน่า(Heart leaf rot) 
เกิดจากเชื้อรา pythium sp. และมักเกิดกับมะพร้าว พันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี๊ย โรคนี้มักพบในระยะต้นกล้า ในสภาพที่มีฝนตกชุก และอากาศมีความชื้นสูง แก้ไขโดยในการย้ายต้นกล้าพยายยามอย่าให้หน่อช้ำ เพราะโรคอาจจะเข้าทำลายได้ง่าย หากพบอาการของโรคในระยะแรกให้ตัดส่วนที่เป็นโรคออก แล้วฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อรา ที่มีสารประกอบทองแดง ซึ่งส่วนต้นกล้าหรือส่วนที่โรคทำลายให้เผาทำลายให้หมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป

โรคใบจุด (Helminthossporium leaf rot)
เกิดจากเชื้อราHeiminthosporium sp. ทำความเสียหายให้แก่มะพร้าวในระยะต้นกล้ามากและคุกคามอย่างรวดเร็ว การป้องกันกำจัด ให้ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น thirem อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตร ผมยาลงไป 15 ซีซี ฉีดพ่นทุก 10-14 วัน นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆเช่นโรคตาเน่า ( Bud rot) โรคโคนผุ ( Stem bleeding) โรคใบจุดสีเทา (Frond break) โรครากเน่า (Root rot) โรคเรื้อนดิน เป็นต้น โรคดังกล่าวนี้แม้ว่าจะพบในแหล่งปลูกมะพร้าวแต่ไม่ทำความเสียหายให้กับมะพร้าวมากนัก

โรคผลร่วง(Immature nut full)
เกิดจากเชื้อรา Phytopthora palmivora และมะพร้าวจะล่วงก่อนกำหนด อายุของมะพร้าวที่ล่วงตั้งแต่ 3 ถึง 9 เดือน อายุของผลที่ล่วงมากคือ 8 เดือนผลมะพร้าวที่เก็บเกี่ยวได้อายุ 12 เดือนดังนั้นผลมะพร้าวที่ร่วง จึงอ่อนกว่าที่จะนำมาใช้ประโยชน์ เป็นมากกับมะพร้าวพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี๊ย สภาพที่จะเกิดโรคผลร่วงระบาด คือมะพร้าวมีผลดกมาก และฝนตกชุกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ให้หมั่นตรวจเช็คผลมะพร้าว โดยวิธีการสุ่มขึ้นไปบนต้น ถ้าพบมะพร้าวที่เป็นโรคให้ตัดออก และนำผลไปเผาทิ้งนอกแปลงมะพร้าวทันที

โรคเอือนกิน
เป็นโรคที่เกิดกับผลมะพร้าว ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน ลักษณะของผลภายนอกปกติ แต่เนื้อมะพร้าวจะมีลักษณะความหนาประมาณ 2 ซม.ยุบง่ายเนื้อมะพร้าวหนาไม่เท่ากัน บางแห่งไม่มีเนื้อมีแต่กะลา ผิวของเนื้อขรุขระ สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ในขณะที่มะพร้าวเริ่มสร้างเนื้อ เช่น กระทบแล้ง เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตที่แน่นอน จึงไม่มีวิธีจะป้องกันกำจัดที่ได้ผล


วิดีโอคลิป เทคนิคการปลูกมะพร้าว โดยธงชนะ พรหมมิ

READ MORE - วิธีการปลูกมะพ้ราวน้ำหอมให้ลูกดกและได้ผลผิตเร็ว พืชเศรษฐกิจสารพัดประโยชน์ ปลูกง่าย โตเร็ว ดูแลง่าย เก็บเกี่ยวได้ยาวนาน.....