ความรู้ใหม่สำหรับชาวโลก วงแหวนรอบดาวเสาร์มีรัศมีถึง 13 ล้านกิโลเมตร

14.10.52

ภาพวาดจำลองวงแหวนยักษ์ของดาวเสาร์ที่พบใหม่ โดยดาวเสาร์ที่เห็นเป็นจุดเล็กๆ ถูกขยายออกมาให้เห็นในภาพวงกลม (เอพี/นาซา)
ภาพจำลอง วงแหวนดาวเสาร์
พบวงแหวนวงใหญ่รอบดาวเสาร์ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จับภาพไม่ได้ด้วยแสงปกติ แต่กล้องสปิตเซอร์จับภาพจากสัญญาณอินฟราเรด เป็นวงแหวนบางๆ ที่ขอบวงแหวนอยู่ห่างดาวเสาร์ไกลออกไป 13 ล้านกิโลเมตร และเอียงจากวงแหวนเดิม 27 องศา

เอพีระบุว่า ห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) หรือเจ็ทแล็บ (Jet Lab) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้พบวงแหวนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอนุภาคฝุ่นและน้ำแข็งที่เรียงตัวกันบางๆ อยู่ห่างออกมาจากระบบดาวเสาร์

วงแหวนขอบในอยู่ห่างออกมาประมาณ 6 ล้านกิโลเมตร ส่วนวงแหวนขอบนอกอยู่ไกลออกไป 13 ล้านกิโลเมตร และวงแหวนทำมุมเอียงกับวงแหวนหลักที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว 27 องศา

วงแหวนดังกล่าว กระเจิงแสงที่ตามองเห็น และไม่สะท้อนออกมากนัก จึงจับภาพไม่ได้ด้วยแสงธรรมดา แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer) สามารถบันทึกภาพของวงแหวนดังกล่าว ไว้ด้วยแสงย่านรังสีอินฟราเรด

แม้ฝุ่นของวงแหวนจะมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ คือ -158 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังแผ่รังสีความร้อนออกมา ซึ่งวิทนีย์ คลาวิน (Whitney Clavin) โฆษกของเจ็ทแล็บกล่าวว่า ไม่เคยยมีใครเห็นตำแหน่งของวงแหวนดังกล่าว โดยใช้เครื่องมืออินฟราเรดมาก่อน

ความใหญ่ของวงแหวนดังกล่าว ก็มีที่ว่างมากพอจะบรรจุโลกลงไปได้ถึง 1 พันล้านใบ และก่อนการค้นพบครั้งนี้ ทราบกันว่าดาวเสาร์นั้นมีวงแหวนที่มีชื่อไล่ตามอักษรอังกฤษ A ถึง F และวงแหวนจางๆ อีก 2-3 วงที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ สำหรับการค้นพบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ (Nature)

"อนุภาคของวงแหวนนั้นเล็กมากๆ ดังนั้นวงแหวนนี้จึงบางมากๆ ด้วย และโดยความเป็นจริงแล้ว ต่อให้คุณไปยืนอยู่ในวงแหวน คุณก็ไม่รู้เลยว่านั่นคือวงแหวน ในปริมาตร 1 ลูกบาศก์กิโลเมตรของวงแหวน มีอนุภาคให้เห็นแค่ 10-20 อนุภาคเท่านั้น" ดร.แอนน์ เวอร์บิสเซอร์ (Anne Verbiscer) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) ในชาร์ลอตต์วิลส์ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยให้ความเห็นกับทางบีบีซีนิวส์

ทั้งนี้สปิตเซอร์ได้จับภาพการแผ่รังสีอินฟราเรดของอนุภาคฝุ่น ที่มีขนาดเพียง 10 ไมครอน แต่ก็มีขนาดของอนุภาคหลายขนาด บางอนุภาคใหญ่กกว่านั้น หรือบางอนุภาคก็เล็กกว่า

อีกทั้งในการสร้างแบบจำลองยังชี้ให้เห็นว่า แสงอาทิตย์ได้ฉายลงบนเม็ดฝุ่นเหล่านี้ แล้วเกิดเป็นเงาตกลงบน ไอเอเปตัส (Iapetus) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่โคจรรอบๆ ดาววงแหวนที่ระยะห่าง 3.5 ล้านกิโลเมตร
Iapetus
ภาพดวงจันทร์ไออาเปตัส ซึ่งด้านขวาจะเห็นเงาดำพาดทับ (บีบีซีนิวส์/นาซา)

สำหรับสมาชิกผู้ร่วมทีมวิจัยกับ ดร.แอนน์ประกอบด้วย ดักลาส แฮมิลตัน (Douglas Hamilton) จากคอลเลจปาร์ก (College Park) มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland) และไมเคิล สครูทสกี (Michael Skrutskie) จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) เช่นเดียวกัน

link: http://forum.khonkaenlink.info/index.php/topic,116501.new.html#new

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น