โหวด

19.1.53


โหวด เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่ไม่มีลิ้น เกิดจากกระแสลมที่เป่าผ่านไม้รวกหรือไม้ เฮี้ย (ไม้กู่แคน) หรือไม้ไผ่ ด้านรู เปิดของตัวโหวดทำด้วยไม้รวกขนาดเล็ก สั้น ยาว (เรียงลำดับตามความสูงต่ำของเสียง) ติด อยู่รอบกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้เป็นแกนกลาง ติดไว้ด้วยขี้สูด มีจำนวน ๖-๙ เลา ความ ยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร เวลาเป่าจะหมุนไปรอบๆ ตามเสียงที่ต้องการ

โหวด ทำจากไม้กู่แคน ซึ่งเป็นปลายที่เหลือจากการทำแคน แต่มีรูปแบบการกำเนิดเสียง ที่แตกต่างจากแคน โดยแคนมีลิ้นเป็นตัวให้กำเนิดเสียง แต่โหวดไม่มีลิ้น ให้กำเนิดเสียงโดยการไหลของลม ระดับเสียง สูง-ต่ำ ขึ้นอยู่กับ ขนาดความโต และความยาวของลูกโหวด หรือ ขึ้นอยู่กับปริมาตรความจุลมของลูกโหวดนั่นเอง หากมีความจุมาก เสียงจะต่ำ หากมีความจุน้อย เสียงจะสูง

ลูกโหวด ด้านหัวของแต่ละลูก เสี้ยมปลายให้แหลมเป็นปากปลาฉลาม และนำแต่ละลูก มาติดเข้ากับแกนโดยรอบ เรียงลำดับจากยาวไปหาสั้น

โหวดมาตรฐาน มี ๑๓ ลูก ๕ โน้ต ตามโน้ตเพลงพื้นบ้านอีสาน คือ มี ซอล ลา โด เร สามารถบรรเลงเพลงลายใหญ่ และลายสุดสะแนนได้ หรือหากต้องการใช้เล่นร่วมกับลายน้อย และลายโป้ซ้ายได้ ก็สามารถปรับคีย์ลูกโหวดให้สูงขึ้น ก็จะได้โน้ต ๕ ตัวสำหรับคีย์ลายน้อย คือ ลา โด เร ฟา ซอล

ต่อมา เพื่อให้โหวดหนึ่งตัว เล่นได้หลายลายหรือหลายสเกลเสียงมากขึ้น จึงเพิ่มเสียง ฟา เข้าไปเป็น ๖ โน้ต ซึ่ง โหวดที่มี ๖ โน้ต จะสามารถบรรเลงลายใหญ่ ลายน้อย ลายสุดสะแนน และลายโป้ซ้าย ได้ แต่บางคน อาจสั่งพิเศษ ให้ช่างโหวดทำให้ครบทั้ง ๗ โน้ต เพื่อให้บรรเลงเพลงลูกทุ่งได้เต็มสเกล แต่โหวดที่มี ๗ โน้ต อาจเล่นยากกว่าโหวดปกติ

โหวด มีส่วนประกอบสำคัญ ดังนี้

ส่วนประกอบของโหวด

ลูกโหวด

ลูกโหวด จากไม้ตระกูลไผ่ ชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทำแคน ช่างแคนนิยมเรียกไว้ชนิดนี้ว่า ไม้กู่แคน โดยมากมักใช้ส่วนที่เหลือจากการทำลูกแคน มาตัดทำเป็นลูกโหวด


แกนโหวด

แกนโหวด เป็นส่วนสำหรับนำลูกโหวดมาติดเรียงเข้าด้วยกัน ตามลำดับโน้ต ทำจากลำไม้ไผ่ เหลาให้เหลือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว และปาดเฉือนทำเป็นหางด้วย


หัวโหวด

หัวโหวดมีลักษณะสอบแหลม ปลายมน ใช้เพื่อให้เป่าลูกโหวดได้ง่าย ทำจากขี้สูด ผสมกับขี้ซี (ยางไม้ เช่น ต้นจิก ต้นแคน เป็นต้น) ปัจจุบัน อาจใช้วัสดุอย่างอื่น ทดแทน


ประเภทของโหวด

โหวดหาง (หรือโหวดแกว่ง)
โหวดกลม (ทั่วไป)
โหวดแผง



โหวดหาง เครื่องเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน

โหวดหาง (หรือโหวดแกว่ง)<br />

โหวด สมัยก่อน เป็นอุปกรณ์เครื่องเล่นเพื่อความเพลิดเพลินอย่างหนึ่ง เท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นเครื่องดนตรี เพราะยังไม่มีการนำมาบรรเลงเป็นเพลงจริงๆ โดยโหวดในสมัยก่อน ประกอบด้วย แกนกลาง ซึ่งทำจากไม้ไผ่ลำโตขนาดกลาง และลูกโหวด ซึ่งทำจากลำไผ่เล็กมีรู หากลูกโหวดมีผิวหนา ก็ใช้มีดเหลาเปลือกออกให้บางลง นำลูกโหวดมาติดรอบแกนด้วยขี้สูด หรือหากไม่มีขี้สูดก็ใช้ยางมูก (มูก เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มียางเหนียว) เป็นตัวประสาน ซึ่งโหวดนี้ สามารถถือเป่าเล่นเพื่อความเพลิดเพลินได้

นอกจากนั้น สามารถนำโหวดนี้ไปเล่นในลักษณะอื่นได้ โดยนำไม้ไผ่ลำเล็ก ยาวประมาณ 1 วา หรือสมดุลกับตัวโหวด มามัดติดเข้ากับเข้ากับตัวโหวด ทำเป็นหางโหวด เรียกโหวดนี้ว่า โหวดหาง

การเล่นโหวดหาง คือ ใช้เชือกทำเป็นบ่วง สองอัน คล้องมัดกับตัวโหวด ให้สมดุลย์ จากนั้น จับหางเชือก แกว่งเวียนรอบศีรษะ ในทิศทางที่หัวโหวดต้านลม จะเกิดเสียงดัง ฟังสนุกสนาน หากต้องการขว้างแข่งกัน ก็ปล่อยหางเชือก ให้โหวดลอยไปในอากาศ ซึ่งก็จะเกิดเสียงดัง เช่นกัน

ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว หรือหน้าหนาว นิยมทำโหวดหางมาขว้างแข่งกัน โดยใครขว้างได้ไกลกว่า เป็นผู้ชนะ ซึ่งโหวดที่นำมาเล่น ต้องมีเสียงดังด้วย หากไม่ดัง แม้จะไปไกลกว่า ก็ไม่ถือว่าชนะ

โหวดหาง

เอาเพียงแค่มีเสียงดัง ซึ่งก็มีทั้งเสียงทุ้ม และเสียงแหลม แต่ยังไม่มีการเรียงเป็นโน้ต หรือไม่มีการปรับระดับโทนเสียงให้เล่นเป็นเพลงได้ แม้จะนำมาเป่าเพื่อความเพลิดเพลินได้ แต่ก็ยังไม่จัดว่าเป็นเครื่องดนตรี


โหวดกลม (ทั่วไป)
โหวดกลม

โหวดที่เป็นเครื่องดนตรี ได้รับการปรับปรุงพัฒนา โดยนายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ โดยอาศัยหลักการของโหวดหาง แต่จัดรูปแบบโน้ตโดยหลักการทางดนตรี เทียบเสียงกับแคน ซึ่งในสมัยแรก ใช้เพียง 5 โน้ต ตามลักษณะลายเพลงพื้นบ้านอีสาน


โหวดแผง
โหวดแผง<br />

โหวดแผง คือโหวดที่เป็นเครื่องดนตรี ใช้หลักการเดียวกันกับโหวดกลม ผสมผสานกับรูปแบบของเมาท์ออแกน จนออกมาเป็น โหวดแผง ซึ่งโหวดแผง จะติดลูกโหวดเรียงกันเป็นแถวเดียว ตามลำดับความยาว-สั้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น