พิณ

15.1.53



พิณ หรือ ซุง เป็นเครื่องดนตรีประเภทสายชนิดดีด ( Plucked Stringed Instrument) ตระกูลเดียวกับ ซึง กระจับปี่ จะเข้ แมนโดลิน ใช้บรรเลงดำเนินทำนอง นิยมทำมาจากไม้ท่อนเดียว จึงเรียกว่า ซุง ปัจจุบัน เรียกว่า พิณ ไม้ที่ทำพิณนั้นส่วนมากใช้ไม้ขนุน เพราะง่ายแก่การขูด เจาะ บาก ได้ง่าย เมื่อไม้แก่เต็มที่ไม้จะมีสีสดใสเป็นสีเหลืองสวยงามตามธรรมชาติพิณ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อ้างอิงได้จากข้อความในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ที่กล่าวถึงการละเล่นพื้นเมืองและการเล่นดนตรีในสมัยนั้นว่า ลางจำพวกดีดพิณและสีซอพุงตอและกรับฉิ่ง เริงรำจับระบำเต้นเล่น ซึ่งให้ความหมายว่า พิณ ใช้เล่นกับซอสามสาย ประกอบกับฉิ่ง กรับมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีอีกประการหนึ่ง ชาวไทยเรารู้จักคำว่าพิณมาพร้อมกับ พุทธประวัติ ตอนที่ พระอินทราธิราชเสด็จลงมาดีดพิณสามสาย ถวายเพื่อเป็นอนุสติแก่พระพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ว่าการบำเพ็ญเพียรแสวงหาโฆษกธรรมนั้นถ้าเคร่งครัดนักก็เปรียบเสือนการขึ้นสายพิณให้ตรึงเกินไปแล้วย่อมขาด ถ้าหย่อนยานนักไม่มีเสียงไพเราะ แต่ถ้าทำอยู่ในขั้น มัชฌิมาปานกลาง ก็เหมือนการขึ้นสายพิณแต่เพียงพอดีกับระดับเสียง ย่อมให้เสียงดังกังวานไพเราะ แจ่มใสดังใจความในวรรณคดีเรื่อง “พระปฐมสมโพธิกถา” พระราชนิพนธ์ ของ สมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ว่า “...ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชทราบในข้อปริวิตก ดังนั้นจึงทรง พิณพาทย์ สามสาย มาดีดถวายพระมหาสัตย์ สายหนึ่งเคร่งนักพอดีดก็ขาดออกไปเข้าก็ไม่บันลือเสียง และสายหนึ่งนั้นไม่เคร่งไม่หย่อนปานกลาง ดีดเข้าก็บันลือศัพท์ไพเราะเจริญจิต พระมหาสัตย์ได้สดับเสียงพิณก็ถือเอานิมิตนั้นทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า “..มัชฌิมาปฏิบัตินั้นเป็นหนทางพระโพธิญาณ....”

พิณอีสาน

ลักษณะของพิณอีสาน
พิณอีสาน มีส่วนประกอบหลักๆ 7 ส่วนดังนี้
1.ตัวพิณ หรือเต้าพิณ ส่วนใหญ่ทำจากไม้ที่มีน้ำหนักเบา เนื้อไม้ที่นิยมกันมากคือ ไม้ขนุน (ไม้บักมี่) เพราะให้เสียงที่ทุ้มกังวาน มีน้ำหนักเบา ถ้าเป็นแก่นที่นำมาจากต้นที่มีอายุมากจะให้สีสัน เมื่อเคลือบด้วยแชลแลคหรือยูรีเทนแล้วสวยงามดี ไม้ที่นำมาทำเต้าพิณจะขุดให้เป็นโพรงเพื่อให้เกิดการก้องกังวาลของเสียง เสียงที่ได้จากพิณขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาผลิต เต้าพิณที่มีขนาดใหญ่และลึกจะมีเสียงดังกว่าเต้าพิณที่มีขนาดเล็กและตื้น

2.คอพิณ ทำจากไม้เนื้อแข็ง เหลาผิวให้เกลี้ยง คล้ายกับคอของกีตาร์ ส่วนต้นต่อเข้ากับตัวเต้าพิณ ตกแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน (หากได้ไม้ที่เหมาะสม อาจทำเต้าพิณและคอพิณเป็นชิ้นเดียวกันตลอดได้) ส่วนปลายทำเป็นร่องสำหรับใส่ลูกบิดขึ้นสาย


3.ขั้นแบ่งเสียง ทำจากซี่ไม้ไผ่แบน ๆ หันด้านติว (ด้านผิว) ขึ้นรองรับสาย ยึดติดคอพิณด้วยขี้สูด (เป็นขี้ผึ้งเหนียวสีดำ ได้จากรังของผึ้งป่าตัวเล็กๆ สีดำ มีปลายปีกสีขาว ทำรังในโพรงไม้ใต้ดิน รังผึ้งชนิดนี้มีน้ำหวานน้อยมาก แต่มีประโยชน์ในการทำแคนและทำโหวดมาก เพราะเหนียวไม่ติดมือและไม่แห้งกรอบแม้จะใช้เวลาสิบๆ ปีก็ตาม)

4.หย่อง ทำจากซีกไม้ไผ่เหลาให้แบน มีติวด้านหนึ่ง แต่งรูปให้โค้งนิดหน่อยและปาดความสูงให้พอเหมาะกับการพาดสาย ติดให้ห่างจากระดับคอพอที่ที่จะกดนิ้วได้สะดวก

5.ลูกบิดขึ้นสาย ทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ ปัจจุบันมีการนำเอาลูกบิดขึ้นสายของกีตาร์มาใช้แทนเพราะสะดวกในการขึ้นสายและปรับแต่งเสียงมากกว่า

6.สายพิณ ทำจากลวดเส้นเล็กๆ แต่แข็ง เช่น สายเบรกจักรยาน สายคลัชรถยนต์ หรือลวดสลิงอ่อน ปัจจุบันนิยมใช้สายกีตาร์เหล็กมาทำแทน

7.ปิ๊ก หรือที่ดีดสายพิณ แต่ก่อนทำจากเขาควาย ปัจจุบันหายาก จึงใช้ขวดน้ำพลาสติกแทน โดยนำมาตัดตกแต่งให้เหมาะมือ มีปลายด้านหนึ่งแหลมมนและอ่อนมีปริงใช้สำหรับดีด (เพราะสายเบรกจักรยานจะแข็งมาก) เมื่อพัฒนามาใช้สายกีตาร์แทนก็เลยนำเอาปิ๊กดีดกีตาร์มาแทนด้วย



การขึ้นสายของพิณอีสาน
พิณอีสานนั้นมีทั้งแบบพิณ 2 สาย 3 สาย และ 4 สาย
พิณ 2 สาย
สาย 1 เป็นสายเอก ขึ้นสายเปล่าเป็นเสียง มี
สาย 2 เป็นสายทุ้ม ขึ้นสายเปล่าเป็นเสียง ลา
พิณ 3 สาย
สาย 1 เป็นสายเอก ขึ้นสายเปล่าเป็นเสียง มี
สาย 2 เป็นสายทุ้ม ขึ้นสายเปล่าเป็นเสียง ลา
สาย 3 จะขึ้นสายเป็นเสียงประสาน
พิณ 4 สาย
สองสายล่าง เป็นเสียง โด เป็นเสียงคู่แปด (สายแรก โดต่ำ สายสอง โดสูง)
สองสายบน ขึ้นเสียงเป็น ซอล เป็นเสียงคู่แปด (สายสอง ซอลต่ำ สายหนึ่ง ซอลสูง)

วิธีดีดพิณอีสาน

มือซ้ายคุมคอซอง ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อย กดเสียงที่ต้องการตามลายพิณและการแบ่งเสียงตามแบบต่าง ๆ นิ้วโป้งออกแรงกดรับกับนิ้วทั้ง 4
มือขวาดีดสายตรงลำโพงเสียง อาจดีดด้วยนิ้วโป้งหรือใช้ปิ๊กดีดก็ได้ เวลาดีดสาย 1 และสาย 2 เพื่อเล่นทำนอง ให้ดีดสาย 3 เป็นเสียงประสานด้วย ซึ่งเสียงของสาย 3 นี้ จะทำหน้าที่เหมือนกับการเคาะลูกเสิบของโปงลางหรือลูกติดสูดของแคน คือทำหน้าที่เป็นเสียงประสานไปตลอดเพลง

ลายพิณอีสาน
คำว่า ลาย หมายถึง ท่วงทำนองเพลงที่ใช้เป่าหรือบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอีสาน ซึ่ง ลาย ก็คือ เพลง นั่นเอง เพลงที่ใช้กับพิณ เป็นเพลงที่มาจากลายแคน มีหลายลาย เช่น ลายใหญ่ ลายน้อย ลายลำเพลิน ลายนกไทรบินข้ามทุ่ง ลายแมลงภู่ตอมดอก ลายลมพัดไผ่ ลายกาเต้นก้อน ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายไล่งัวขึ้นภู ลายโป้ซ้าย ภูไทเลาะตูบ เต้ยหัวดอนตาล ลายสร้อยสีกซิ่น เซิ้งขิก มโนราห์ ศรีโคตบูรณ์ สังข์ศิลป์ชัย ลมพัดพร้าว เซิ้งกลองยาว ทองสร้อย เป็นต้น

ตัวอย่าง ลายลำเพลิน



ลายเซิ้งประยุกต์



ลายไล่วัวขึ้นภู

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น