วิธีการเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาช่อน

18.1.53

วิธีการเลี้ยงปลาช่อน

ชื่อไทย ช่อน (ภาคกลางและภาคใต้ ) , ค้อ ( ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ )
ชื่อสามัญ STRIPED SNAKE-HEAD FISH
ชื่อวิทยาศาสตร์ Channa striatus


ปลาช่อนเป็นปลาพื้นเมืองของไทย พบอาศัยแพร่กระจายทั่วไปตามแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของไทย อาศัยอยู่ในแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ หนองและบึง ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดที่มีมาหลายร้อยพันปีแล้วนอกจากจะพบในประเทศไทยยังมีแพร่หลายในประเทศจีน อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าการเลี้ยงปลาช่อนในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีประมาณ 40 ปีมาแล้ว โดยชาวจีนที่ตลาดบางลี่ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นนายทุนได้รวบรวมลูกพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตพื้นที่อำเภอสองพี่น้อง มาทดลองเลี้ยงดูและเห็นว่าพอเลี้ยงได้จึงออกทุนให้กับคนญวนที่มี ภูมิลำเนาติดกับแม่น้ำท่าจีนและคลองสองพี่น้องในตำบลสองพี่น้อง ตำบลต้นตาล โดยสร้างกระชังในล่อนแล้วแต่ขนาดและความเหมาะสม นำลูกปลาช่อนมาลงเลี้ยง โดยผลผลิตที่ได้นายทุนจะรับซื้อเอง แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องเลิกเพราะเกษตรกรบางรายนำลูกปลาช่อนไปลองเลี้ยงในบ่อดินและพบว่าได้ผลดีกว่าและต้นทุนต่ำกว่า และปริมาณลูกปลาช่อนที่ได้รับก็มีจำนนวนมากกว่า

ลักษณะทั่วไป
ลักษณะของปลาช่อน
ปลาช่อนเป็นปลามีเกล็ด ลำตัวอ้วนกลมและยาวเรียว ท่อนหางแบนข้าง หัวแบนลง เกล็ดมีขนาดใหญ่และเกล็ดตามลำตัวเป็นสีเทาจนถึงน้ำตาลอมเทา ปากกว้างมาก มุมปากยาวถึงตา ริมฝีปากล่างยื่นยาวกว่าริมฝีปากบน มีฟันซี่เล็กๆอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ตามีขนาดใหญ่ ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหลังมีก้านครีบ 38-42 อัน ครีบก้นมีก้านครีบ 24-26 อัน ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบท้องมีขนาดเล็ก ครีบหางกลม โคนครีบหางแบนข้างมาก ลำตัวส่วนหลังมีสีดำ ท้องสีขาว ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียง เกล็ดตามเส้นข้างลำตัวมีจำนวน 49-55 เกล็ด และมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ ปลาช่อนจึงมีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี อยู่ในที่ชื้นๆได้นาน และสามารถเคลื่อนไหวไปมาบนบกหรือฝังตัวอยู่ในโคลนได้เป็นเวลานานๆ

การแพร่ขยายพันธุ์และการวางไข่
การขยายพันธุ์ปลาช่อน
ปลาช่อนสามารถวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปี สำหรับฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่จะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-ตุลาคม แต่ช่วงที่แม่ปลามีความพร้อมมากที่สุดในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ในฤดูวางไข่จะเห็นความแตกต่างระหว่างปลาเพศผู้กับปลาเพศเมียได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ปลาเพศเมียลักษณะท้องจะอูมเป่ง ช่องเพศขยายใหญ่มีสีชมพูปนแดง ครีบท้องกว้างสั้น ส่วนปลาเพศผู้ลำตัวมีสีเข้ม ใต้คางมีสีขาว ลำตัวยาวเรียวกว่าตัวเมีย พ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ควรมีน้ำหนักตัวประมาณ 800-1,000 กรัม ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติปลาช่อนจะสร้างรังวางไข่ตามแหล่งน้ำนิ่ง ความลึกประมาณ 30-100 เซนติเมตร โดยปลาตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรังด้วยการกัดหญ้าหรือพันธุ์ไม้น้ำ และใช้หางโบกพัดตลอดเวลา เพื่อทำให้รังมีลักษณะเป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-40 เซนติเมตร ปลาจะกัดหญ้าที่บริเวณกลางๆของรัง ส่วนดินใต้น้ำปลาก็จะตีแปลงจนเรียบ
หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้ว พ่อแม่ปลาจะคอยรักษาไข่อยู่ใกล้ๆเพื่อมิให้ปลาหรือศัตรูอื่นเข้ามากิน จนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้พ่อแม่ปลาก็ยังให้การดูแลพาลูกหาอาหาร เมื่อลูกปลามีขนาด 4.5-6 เซนติเมตร จึงสามารถแยกตัวออกไปหากินตามลำพังได้ ซึ่งลูกปลาในวัยนี้มีชื่อเรียดว่า ลูกครอกหรือลูกชักครอก ลูกปลาขนาดดังกล่าวน้ำหนักเฉลี่ย 0.5 กรัม ปลา 1 กิโลกรัมจะมีลูกครอกประมาณ 2,000 ตัว ซึ่งลูกครอกระยะนี้จะมีเกษตรกรผู้รวบรวมลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติจับมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเนื้อ

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ปลาช่อนที่นำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ควรเป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์ ไม่บอบช้ำและมีน้ำหนักตั้งแต่ 800-1,000 กรัมขึ้นไปและอายุ 1 ปีขึ้นไป ลักษณะของพ่อแม่พันธุ์ปลาช่อนที่ดี เหมาะสมจะนำมาใช้ผสมพันธุ์ แม่พันธุ์ควรมีส่วนท้องอูมเล็กน้อย ลักษณะติ่งเพศมีสีแดงหรือชมพูอมแดง ถ้าเอามือบีบเบาๆที่ท้องจะมีไข่ไหลออกมามีลักษณะกลมสีเหลืองอ่อน ใส ส่วนพ่อพันธุ์ติ่งเพศควรจะมีสีชมพูเรื่อๆ ปลาไม่ควรจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอมจนเกินไป

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน
ในการเพาะพันธุ์ปลาช่อนต้องเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ บ่อเพาะพันธุ์ควรมีระดับความลึกของน้ำประมาณ 1.0-1.5 เมตร และมีการถ่ายเทน้ำบ่อยๆเพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารได้ดี มีการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ให้สมบูรณ์ซึ่งจะทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาช่อนมีน้ำเชื้อและไข่ที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน ทำได้ 2 วิธีคือ
1. การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ วิธีนี้ควรใช้บ่อเพาะพันธุ์เป็นบ่อดินขนาด 0.5-1.0 ไร่พร้อมทั้งจัดสภาพสิ่งแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติโดยปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในอัตรา 1:1ให้ปลาเป็ดผสมรำเป็นอาหารในปริมาณร้อยละ 2.5-3 ของน้ำหนักปลา
2. การเพาะพันธุ์โดยวิธีการผสมเทียมด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ฉีดเร่งให้แม่ปลาช่อนวางไข่เพื่อที่รีดไข่ให้ผสมกับน้ำเชื้อ หรือปล่อยให้ผสมกันเองตามธรรมชาติ ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้ได้แก่ LHRHa หรือ LRH-a โดยใช้ร่วมกับ Domperidone
การฉีดฮอร์โมนผสมเทียมปลาช่อนโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ฉีดเร่งให้แม่ปลาวางไข่นั้นฉีดเพียงครั้งเดียวที่ระดับความเข้มข้น 30 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัมร่วมกับ Domperidone 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ส่วนพ่อพันธุ์ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ระดับความเข้มข้น 15 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัมร่วมกับ Domperidone 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม จากนั้นประมาณ 8-10 ชั่วโมงสามารถรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อได้ เนื่องจากไข่ปลาช่อนมีไขมันมากเมื่อทำการผสมเทียมจึงต้องล้างน้ำหลายๆครั้งเพื่อขจัดคราบไขมัน นำไข่ไปฟักในถังไฟเบอร์กลาสขนาด 2 ตันภายในถังเพิ่มออกซิเจนผ่านหัวทรายโดยเปิดเบาๆในกรณีที่ปล่อยให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์กันเอง หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้วต้องแยกไข่ไปฟักต่างหากเช่นกัน

การฟักไข่
ไข่ปลาช่อนมีลักษณะกลมเล็ก เป็นไข่ลอย มีไขมันมาก ไข่ที่ดีมีสีเหลือง ใส ส่วนไข่เสียจะทึบ ไข่ปลาช่อนฟักเป็นตัวภายในเวลา 30-35 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 27 องศาเซลเซียส ความเป็นกรด-ด่าง 7.8 และความกระด้าง 56 ส่วนต่อล้าน

การอนุบาลลูกปลาช่อน
ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆลำตัวมีสีดำ มีถุงไข่แดงสีเหลืองใส ปลาจะลอยตัวในลักษณะหงายท้องขึ้นอยู่บริเวณผิวน้ำ ลอยอยู่นิ่งๆไม่ค่อยเคลื่อนไหว หลังจากนั้น 2-3 วันจึงพลิกกลับตัวลงและว่ายไปมาตามปกติโดยว่ายรวมกันเป็นกลุ่มบริเวณผิวน้ำ ลูกปลาช่อนที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆ ใช้อาหารในถุงไข่แดงที่ติดมากับตัวเมื่อถุงไข่แดงยุบวันที่ 4 จึงเริ่มให้อาหารโดยใช้ไข่แดงต้มสุกบดละลายกับน้ำผ่านผ้าขาวบางละเอียดให้ลูกปลากินวันละ 3 ครั้ง เมื่อลูกปลามีอายุย่างเข้าวันที่ 6 จึงให้ไรแดงเป็นอาหารอีก 2 สัปดาห์ และฝึกให้อาหารเสริม เช่น ปลาป่น เนื้อปลาสดสับ โดยใส่อาหารในแท่นรับอาหารรูปสี่เหลี่ยมซึ่งมีทุ่นผูกติดอยู่ ถ้าให้อาหารไม่เพียงพออัตราการเจริญเติบโตของลูกปลาจะแตกต่างกัน และเกิดพฤติกรรมการกินกันเองทำใหอัตราการรอดตายต่ำจึงต้องคัดขนาดลูกปลา การอนุบาลลูกปลาช่อนโดยทั่วไปจะมีอัตราการรอดประมาณร้อยละ 70 และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันร้อยละ 50 ของปริมาตรน้ำ

การเลี้ยงปลาช่อน
การเลี้ยงปลาช่อน
ปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนจึงต้องเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยทั่วไปนิยมเลี้ยงด้วยปลาเป็ด อัตราการปล่อยปลา นิยมปล่อยลูกปลาขนาด 8-10 เซนติเมตรหรือ น้ำหนัก 30-35 ตัว/กิโลกรัม ควรปล่อยในอัตรา 40-50 ตัว/ตารางเมตร และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ให้ใช้ฟอร์มาลีนใส่ในบ่อเลี้ยงอัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน ( 3 ลิตร/น้ำ 100 ตัน ) ในวันแรกที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น โดยเมื่อปล่อยลูกปลาช่อนลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงลูกปลาช่อนมีขนาดเล็ก คือ ปลาเป็ดผสมรำในอัตราส่วน 4:1 หรืออัตราส่วนปลาเป็ดร้อยละ40, รำร้อยละ30, หัวอาหารร้อยละ30 ปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกินร้อยละ 4-5 ของน้ำหนักตัวปลา วางอาหารไว้บนตะแกรงหรือภาชนะแบบลอยไว้ใต้ผิวน้ำ 2-3 เซนติเมตร ควรวางไว้หลายๆจุด
การถ่ายเทน้ำ ช่วงแรกความลึกของน้ำในบ่อควรอยู่ที่ระดับ 30-40 เซนติเมตร แล้วค่อยๆเพิ่มระดับน้ำสัปดาห์ละ 10 เซนติเมตรจนได้ระดับ 50 เซนติเมตรจึงถ่ายน้ำวันละครั้ง หลังจากอนุบาลลูกปลาในบ่อดินประมาณ 2 เดือน ปลาจะเติบโตไม่เท่ากัน ใช้อวนลากลูกปลาเพื่อคัดขนาด ไม่เช่นนั้นปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก หลังจากอนุบาลลูกปลาในช่วง 2 เดือนแล้วต้องใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 4-5 เดือนจะให้ผลผลิต 1-2 ตัว/กิโลกรัม เช่น เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งานจะได้ผลผลิตมากกว่า 6,000 กิโลกรัม และเมื่อปลาโตได้ขนาดต้องการจึงจับจำหน่ายซึ่งก่อนจับปลาควรงดอาหาร 1-2 วัน
การจับขายจับโดยการสูบน้ำออก 2 ใน 3 แล้วตีอวน ระลึกไว้ว่าปลาช่อนเป็นปลาที่ชอบมุดโคลนเลน ดังนั้นถ้าปลาเหลืออยู่น้อย ควรสูบน้ำให้แห้งแล้วจับออกให้หมด นำปลาที่ได้มาล้างโคลนออกก่อนที่จะส่งตลาด

การเลือกสถานที่เลี้ยงปลาช่อน
ควรจะพิจารณาเป็นข้อๆดังนี้
1. ใกล้แหล่งน้ำจืด ที่สามารถใช้ได้ตลอดปี
2. น้ำไม่เป็นกรดหรือด่างมากจนเกินไป
3. ที่ดอน น้ำไม่ท่วม และเป็นที่ราบ
4. ดินเหนียว หรือปนทราย
5. คมนาคมสะดวก

การเตรียมบ่อ
1. พื้นที่ที่ใช้ไม่ควรต่ำกว่าบ่อละครึ่งไร่ลึก 1.5 - 2 เมตร ทำคันดินที่ปากบ่อเมื่อเก็บน้ำได้ระดับสูงสุด ระดับน้ำควรต่ำกว่าคันดินประมาณ 8 เมตร
2. กั้นรั้วตาข่ายหรือไนล่อนที่ปากบ่อกันปลาช่อนกระโดดหนี
3. อัดดินในบ่อให้เรียบแน่น
4. ในกรณีที่เป็นบ่อเก่าควรสูบน้ำทิ้ง เหลือน้ำไว้ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร
5. โรยโล่ติ๊นกำจัดปลาที่ไม่ต้องการ และโรยปูนขาวในอัตรา 60-100 กิโลกรัมต่อ 1ไร่เพื่อฆ่าพยาธิและปรับสภาพดิน
6. ตากบ่อ 5-7 วัน
7. ใส่ปุ๋ยคอกตากหมาดๆ 40-80 กิโลกรัมต่อไร่
8. ระดับน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาช่อนลูกปลาขนาดเล็กกว่า 5 เซนติเมตรน้ำลึก 30-40 เซนติเมตร ปลาและลูกปลาขนาดมากกว่า 6 เซนติเมตรน้ำลึก 80-150 เซนติเมตร

**ลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาช่อนเลี้ยงและปลาช่อนนา (ปลาช่อนที่จับจากธรรมชาติ )
- ปลาช่อนนา สีเกล็ดของลำตัวจะมีสีไม่แน่นอน แล้วแต่แหล่งน้ำที่อาศัย หัวค่อนข้างใหญ่และยาว ปากค่อนข้างแบน ลำตัวเพรียวยาวแต่ไม่กลม เมื่อผ่าท้องดูจะเห็นว่าบริเวณลำไส้ไม่มีไขมัน นอกเหนือจากฤดูวางไข่ซึ่งตัวเมียที่สมบูรณ์กำลังมีไข่อ่อนจะมีไขมันติดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
- ปลาช่อนเลี้ยง สีเกล็ดของลำตัวจะมีสีเดียวกันหมด หัวเล็กสั้น ปลายปากมนเรียว ลำตัวอ้วนกลมยาวพอประมาณ เมื่อผ่าท้องดูจะเห็นบริเวณลำไส้จะมีไขมันจับเป็นก้อนทุกตัว

โรคและการป้องกัน
โรคพยาธิและอาการของปลาช่อนส่วนใหญ่ ได้แก่
1. โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส หนอนสมอ จะเกาะดูดเลือดทำให้เกิดเกล็ดหลุด ตัวแข็งมีแผลตามตัว ปลาเกิดการระคายเคือง ถ้าปล่อยไว้นานปลาอาจจะตายหมดบ่อ ให้ใช้ดิปเทอร์เรกซ์ 400g/ 0.5 ไร่ทิ้งค้างคืนงดอาหารจนกว่าจะถ่ายน้ำใหม่หรือใช้ฟอร์มาลีน 150-200 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ประมาณ 24 ชั่วโมง
2. ท้องบวมหรือเกล็ดหลุดเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้ใช้เทอรามัยซิน 2 กรัมในอาหาร 1 กิโลกรัมให้ปลากิน
3. โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน เช่น พยาธิหัวหนาม พบในลำไส้ ลักษณะอาการตัวผอมและกินอาหารลดลง การรักษาโดยใช้ยาถ่ายพยาธิ

ตลาดและการลำเลียงขนส่ง

ในการขนส่งนิยมใช้ลังไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าภายในกรุสังกะสีกว้าง 58 เซนติเมตรยาว 94 เซนติเมตร ความสูง 38 เซนติเมตร สามารถขนส่งโดยรถบรรทุกสู่ตลาดทั่วทุกภาคของประเทศไทย สำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณการนำเข้าปลาช่อมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ต้องการปลาช่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวกว่า 1 กิโลกรัม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเข้าปลาช่อนที่มีน้ำหนักประมาณ 400-500 กรัม และ 700-800 กรัม สำหรับตลาดผู้บริโภคปลาช่อนในกรุงเทพฯต้องการปลาใหญ่ซึ่งมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัมขึ้นไป เป็นต้น



ตัวอย่างเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อน


เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อน

คุณลุงทวีป เกษตรกรบ้านบางใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ขุดบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแล้วขาดทุนจึงเลิกเลี้ยงกุ้ง
เปลี่ยนมาทำสวนผสมแทนโดยเลี้ยงปลานิล ปลากะพง ปลาช่อน ในบ่อกุ้งร้าง และที่ขอบบ่อก็ปลูกมะพร้าว ฝรั่งไร้เมล็ด มะนาวไร้เมล็ด มะละกอ ทับทิม มะขาม มะม่วง ส้มเขียวหวาน ซึ่งเทคนิคเด่นของ
ลุงทวีปคือการเลี้ยงปลาโดยที่ไม่ต้องให้อาหารกล่าวคือ ตอนแรกให้เลี้ยงปลานิลก่อนซึ่งตามธรรมชาติของปลานิลจะกินพืชจึงปลูกผักบุ้งไว้รอบบ่อปลา หลังจากที่ปลานิลมีลูกปลามากแล้ว ก็ทำการปล่อย
ปลาช่อนหรือปลากะพงลงไปให้กินลูกปลานิลทำให้ไม่ต้องให้อาหารปลาเลยและมีกำไรดีมาก


คุณชาญ บัววิเชียร กับอาชีพขุนลูกปลาช่อนขาย ที่สองพี่น้อง ปลาช่อน เป็นปลาน้ำจืดที่ตลาดมีความต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลผลิตมีทั้งปลาจากธรรมชาติ และจากบ่อเลี้ยงแม้ว่าในธรรมชาติตามหนอง คลอง บึง มีปลาชนิดนี้มาก แต่การล่าหรือจับเพื่อการค้านั้นค่อนข้างลำบาก เพราะว่าเป็นปลาที่มุดโคลนเก่ง ด้วยเหตุนี้จึงมีอาชีพเลี้ยงปลาช่อนเกิดขึ้น และกลุ่มที่ทำอย่างจริงจัง ก็คือชาวบ้านแถวๆ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีก่อนหน้านี้ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะยึดอาชีพทำนา เมื่อเห็นตลาดรับซื้อปลาช่อนเปิดกว้างและให้ราคาดี พวกเขาจึงเปลี่ยนจากนาเป็นบ่อเลี้ยงปลา นับเป็นร้อยๆ รายทีเดียว

พันธุ์ปลาช่อนที่นำมาเลี้ยงช่วงแรกๆ จะหามาจากธรรมชาติ ระยะหลังบางรายซื้อมาจากสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสิงห์บุรี เนื่องจากที่นี่ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปลาช่อนอย่างไรก็ตาม ชาวบ้านจะนิยมเลี้ยงลูกปลาจากธรรมชาติมากกว่า ด้วยว่ายังหาได้ง่าย และสะดวกในการขนส่งอีกด้วยชาวบ้านที่อยู่ในแวดวงปลาช่อนจะแบ่งหน้าที่ของตน เองออกไปตามทุนทรัพย์ กล่าวคือ ใครไม่มีที่ดินหรือบ่อเลี้ยงปลา จะตระเวนออกหาลูกปลาตามธรรมชาติ โดยใช้สวิงช้อน เพื่อนำไปขายให้กับเจ้าของบ่อเลี้ยงปลา หรือฟาร์มเพาะเลี้ยงปลา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น